ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระดมนักวิจัยไทยเดินหน้าพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เริ่มทดลอง “หนู-ลิง” ใช้เทคโนโลยีใหม่ mRNA มีรง.ผลิตได้เพียง 7 แห่งทั่วโลก ไทยประสานสหรัฐ-เยอรมัน จ่อผลิต 10,000 โดส ภายในสิ้นปี 63

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยประเทศไทย เกิดจากความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ทั้งสถาบันวัคซีนแห่งชติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และยังมีหน่วยงานวิจัยทั้งรัฐและเอกชน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด (BioNet-Asia) ร่วมกันพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้นแบบ ซึ่งวันนี้มีความก้าวหน้าอยู่ 2 ชนิด คือวัคซีนจาก DNA และวัคซีนจาก mRNA

นพ.นคร กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้นแบบ ในส่วนของไบโอเทค กับบริษัทไบโอเนท-เอเชีย กำลังทดลองวัคซีนในหนู โดยใช้ DNA วัคซีน ส่วนจุฬาฯ กับกระทรวงอุดมฯ ทดลองวัคซีนในลิง ซึ่งความคืบหน้าเมื่อวานนี้(23พ.ค.) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลงพื้นที่เตรียมการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้างานวิจัย วัคซีนชนิด mRNA อย่างไรก็ตาม สำหรับการทดลองในสัตว์ทดลองนั้น ต้องผ่านเงื่อนไขต่างๆ อาทิ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันก่อนจะเริ่มทดสอบในคน

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองในการผลิตวัคซีนด้วย เนื่องจากหากประเทศต้นทางที่ผลิตได้ ย่อมต้องนำวัคซีนที่ผลิตได้เองให้ประเทศตนเองก่อน เราจึงจำเป็นต้องพัฒนา ซึ่งจริงๆ ไทยไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เรามีการเรียนรู้เทคโนโลยีสะสมมาเรื่อยๆ อย่างจุฬาฯ ก็มีทีมในการพัฒนาวัคซีนมานาน แต่ธงนำในการประสานทุกฝ่ายเรื่องนี้คือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยมักมี 2 คำถามใหญ่ คือ จะใช้เทคโนโลยีอะไร เพราะปัจจุบันมีอย่างน้อย 6-7 เทคโนโลยี และคำถามที่ 2 คือ ชิ้นส่วนไหนควรใส่ในวัคซีน

“สำหรับจุฬาฯ เลือกใช้ชิ้นส่วนไวรัส 3 ชนิดที่ไม่ต้องยุ่งกับเซลล์ คือ DNA , mRNA และ Protein ซึ่งผลการวิจัยพบว่า DNA , mRNA ได้ผลดี แต่ ผลการทดลอง Protein ยังไม่ดีมาก เพราะต้องมีสารผสมที่กระตุ้นภูมิได้ดี ซึ่งกำลังทำอยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการวิจัย mRNA ในหนูถือว่าดี และล่าสุดเมื่อวาน(23 พ.ค.) มีการทดลองในลิง คาดว่าประมาณปลายเดือนมิ.ย. น่าจะทราบผล โดยจะตรวจเลือดลิงรอบแรกกลางเดือนมิ.ย. จริงๆ การทำ mRNA ถือเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ยังไม่มีในไทย เราต้องจองโรงงานขนาดเล็กต่างประเทศเพื่อผลิตวัคซีน หากผลเลือดลิงดี เราต้องเลือกผลที่ดีประมาณ 10,000 โดสเพื่อผลิตและนำมาทดสอบในอาสาสมัคร กลุ่มแรกอาจละ 15 คนหรือแล้วแต่พิจารณาแต่ระยะที่ 1 ไม่เกิน 100 คน ระยะที่ 2 500 คนขึ้นไป ระยะที่ 3 มากกว่า 1,000 คน” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวาถามว่า หากผลการทดลองในลิงผ่านแล้ว จะต้องคัดเลือกหรือเตรียมอาสาสมัครทดลองอย่างไร ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยี mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ ปัจจุบันทั่วโลกมีประมาณ 7 แห่ง โดยมีทั้งโรงงานผลิต mRNA กับโรงงานผลิตส่วนประกอบในการนำ RNA เข้าเซลล์ ล่าสุดไทยจองโรงงานผลิตให้แล้ว มี 2 แห่ง คือสหรัฐอเมริกา และเยอรมันโดยมีโรงงานที่แวนคูเวอร์ แคนาดา เตรียมผลิต 10,000 โดส โดยเราคาดจากวัคซีนทั่วไปใช้คนละ 2 โดส ก็ประมาณอาสาสมัคร 5,000 คน หากผลการทดลองออกมาดีก็จะผลิตได้เร็วสุด คือ เดือนต.ค. และโรงงานที่ 2 ก็จะก่อนสิ้นปี ส่วนการผลิตในไทยเองนั้น ทาง บ.ไบโอเนท-เอเชีย พร้อมรับเทคโนโลยีมาผลิต คาดว่าน่าจะอีก 1 ปีครึ่งข้างหน้า

ด้าน นพ.นคร กล่าวเพิ่มเติมถึงการการทดสอบในคน ว่า มี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความปลอดภัย ทดลองในอาสาสมัคร 30-50คน ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทดลองในอาสาสมัคร 250-500 คน และระยะที่ 3 ให้ผลในการป้องกันโรค ทดลองในอาสาสมัคร 1,000 คนขึ้นไปปัจจุบันทั่วโลกมีการทดสอบวัคซีนในคนแล้ว 10 ชนิด ในประเทศต่างๆ ทั้ง จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย แม้ไทยจะไปได้ช้ากว่าประเทศแนวหน้า แต่เราก็ไม่ได้อยู่แถวหลัง เราก็กำลังเดินหน้าพัฒนาเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดก็เป็นความหวังในการที่จะได้ใช้วัคซีนโควิด-19” นพ.นคร กล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองอีก 114 ชนิด

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:

ก.อุดมศึกษาฯ ทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิง ก่อนทดสอบในคน ส.ค.นี้

รู้จัก! วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA คืออะไร ชนิดไหนเหมาะกับประเทศไทย