ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเผยกรณีผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสเชื้อ ไปหลายสถานที่ ส่งสัญญาณไทยยังมีคนไข้หลงเหลืออยู่ในประเทศ แต่การที่ผู้ติดเชื้อไปหลายพื้นที่ ไม่ได้ยืนยืนว่าติดเชื้อจากแหล่งนั้นๆ ต้องดูการสอบสวนโรคเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวันนี้ ว่า ผู้ป่วยกลับบ้านได้ 7 ราย รวมผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 2,928 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 96.25 ของผู้ป่วยทั้งหมด เหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 57 ราย หรือร้อยละ 1.87 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 2 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 57 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,042 ราย

จากข้อมูลรายงานการติดเชื้อในประเทศไทย พบว่าสาเหตุหลักของการติดเชื้อ มาจากการสัมผัสใกล้ชิด รองลงมาคือ อาชีพเสี่ยง การรวมกลุ่มในสถานที่แออัด เช่น สนามมวย สถานบันเทิง และการเดินทางไปในสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานที่แออัด คนอยู่มาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีประวัติเดินทางไปที่โรงพยาบาล ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยง กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยประชาชนที่ต้องมารอคิวรักษาทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่และสัมผัสเชื้อได้ จึงได้จัดบริการในรูปแบบการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal Medical Service) ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การพบแพทย์ผ่านระบบวิดีโอ (Tele –medicine) การรับยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์ ในกลุ่มที่ต้องรับยาต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ช่วยลดความเสี่ยงการรับเชื้อ

“ผู้ป่วยรายล่าสุด หรือแม้แต่ผู้ป่วยอายุ 72 ปีนั้น จริงๆ เป็นตัวบอกอย่างหนึ่งว่า เรายังมีคนไข้หลงเหลืออยู่ในประเทศ ในขณะที่เราคิดว่าไม่มีผู้ป่วย หรือมีผู้ป่วยต่ำๆ แต่เราก็ยังเจอผู้ป่วยที่ยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ จึงอยากเรียนว่า การที่ผู้ป่วยไปหลายพื้นที่ไม่ได้ยืนยันว่าเขาติดเชื้อจากแหล่งนั้น การสอบสวนโรคจึงเป็นการตรวจเพื่อดูว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ อย่างร้านตัดผม เมื่อไปตรวจก็พบว่า ทางร้านปฏิบัติตามมาตรการค่อนข้างดี ทางผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง เจ้าหน้าที่ก็รับไว้สังเกตอาการ 14 วัน ทางร้านอาหารก็เช่นเดียวกัน” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่าการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำถือว่าเสี่ยงหรือไม่ คลอรีนในสระฆ่าเชื้อได้หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ลักษณะสระว่ายน้ำไม่แตกต่างจากที่ต่างๆ ต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และต้องกำหนดการว่ายน้ำให้เหมาะสม ส่วนคลอรีนในสระนั้น หากสามารถบำรุงรักษาระดับคลอรีนในระดับมาตรฐาน ก็สามารถฆ่าเชื้อได้ แต่ต้องอยู่ในระดับตามคำแนะนำ ดังนั้น โอกาสที่จะสัมผัสเชื้อในสระว่ายน้ำ คือ การรับเชื้อจากผู้ป่วยที่ไปว่ายน้ำจากการใกล้ชิด แต่จะรับเชื้อจากผู้ป่วยที่ว่ายน้ำเสร็จถือว่ายากมาก อย่างไรก็ตาม ทางสระว่ายน้ำควรคัดกรองผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำ และขอความร่วมมือผู้ที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจให้หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำไปก่อน ส่วนเรื่องที่มีคำถามว่า จะเปิดสนามมวยหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาว่า กีฬาประชิดตัวก็ยังเสี่ยง การคัดกรองเป็นสิ่งสำคัญ ดังนัน การเปิดสนามมวย ก็อยากให้รอฟังข้อแถลงการณ์ของ ศบค. คาดว่าน่าจะแถลงภายในช่วงกลางสัปดาห์นี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง