ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สหพันธ์แบคออฟฟิศ -ชมรมลูกจ้าง-พนง.กระทรวงสาธารณสุข” แถลงการณ์หลังไม่ได้รับความเป็นธรรมตำแหน่งงาน ความก้าวหน้าวิชาชีพ ขู่เคลื่อนไหวหยุดงาน รพ.ทุกระดับทั่วประเทศ หลังยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ทำหนังสือที่นร1008.3.3/58 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ถึงสหพันธ์แบคออฟฟิศกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยใจความสำคัญ ระบุว่า หากภายหลังบริบทของงานเปลี่ยนแปลงไป กระทรวงสาธารณสุขสามารถปรับเปลี่ยนสายงานของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เป็นสายงานบริการทางการแพทย์อื่นๆ ได้ตามความจำเป็น แต่ต้องไม่เกินจำนวนกรอบอัตรากำลังตามที่กำหนด ส่งผลให้บุคลากรสายงานสนับสนุน หรือแบคออฟฟิศ ต่างกังวลเรื่องดังกล่าว

ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 26 พ.ค. นายชาติชาย เดชรัตน์ ประธานสหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากหนังสือ กพ. ทาง สหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุข และชมรมลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทย จึงออกแถลงการณ์ ดังนี้ สหพันธ์แบคออฟฟิศฯ ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องความก้าวหน้ามาตลอดและกระทรวงสาธารณสุขก็รับรู้เวลาเคลื่อนไหวหรือเวลาไปยื่นหนังสือเรียกร้องร้องทุกข์ แต่ไม่เคยเรียกตัวแทนสหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุขรวมถึงเครือข่าย 31 องค์กรเข้าไปพบชี้แจง แต่อย่างใด สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นนายกรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 นั้นและหนังสือที่สำนักงาน กพ.ตอบมานั้น แสดงว่าสำนักงานกพ.ไม่รู้เรื่องการปฏิบัติงานของสายงานสนับสนุนบริการและลูกจ้างสายสนับสนุนว่าปฏิบัติงานกันอย่างไร และไม่เห็นความสำคัญของสายงานสนับสนุนบริการ และลูกจ้างสายสนับสนุน เพราะไม่มีลายเซ็นของ เลขาธิการ กพ.

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ขอให้เลขาธิการ กพ. ทบทวนหนังสือที่ตอบมา ถึงสหพันธ์แบคออฟฟิศกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1. การบรรจุเป็นข้าราชการของสายสนับสนุนบริการ (ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราวที่มีวุฒิการศึกษา )ตามมติครม. โรคโควิด-19 นั้น ข้อเรียกร้องของสหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ได้แย่งตำแหน่งของสายวิชาชีพตามมติครม. แต่ขอความเมตตาถ้ามีตำแหน่งที่เหลือหรือสายงานวิชาชีพ ที่ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การบรรจุข้าราชการก็ขอให้เป็นของสายสนับสนุนบริการด้วย 2. ข้อ3 ไม่ยุบตำแหน่งลูกจ้างประจำเวลาเกษียณ โดยให้บรรจุจากพนักงานราชการหรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว ขึ้นมาทดแทน ส่วนลูกจ้างประจำเดิมให้มีความก้าวหน้าสามารถเลื่อนระดับ เป็น ส.3 ส. 4 ได้ทุกตำแหน่ง

“ 3. อัตราเงินเดือนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ต้องรับจากเงินงบประมาณเท่านั้นและคิดอัตราจำนวนวัน 30 วันเท่ากับกฎหมายแรงงาน(ปัจจุบันคิด22 วันทำการ) อัตราใหม่อย่างน้อย 420x30 วัน = 12,600 บาทต่อเดือน 4.เรื่องความก้าวหน้าของสายงานสนับสนุน ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มบริหารงานทั่วไปโรงพยาบาลชุมชน ที่เรียกร้องขอเป็นชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่แตกต่างจากตำแหน่ง นักจัดการงานทั่วไปของกระทรวงอื่นๆ เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่ากระทรวงอื่น ทำหน้าทีด้านบริหารทุกอย่างแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาล” นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ดังนั้น สำนักงานกพ.โปรดพิจารณาด้วยความเป็นธรรม อย่าไปเหมารวมกับกระทรวงอื่นๆที่ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป ทำหน้าที่เป็นเพียงหัวหน้างานสารบรรณ ธุรการเท่านั้น 5.ขอความเมตตา รับพิจารณาเรื่องความก้าวหน้าของข้าราชการสายสนับสนุนในประเภททั่วไป ให้มีความก้าวหน้าในระดับอาวุโส เช่น เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน, เจ้าพนักงานพัสดุชำนาญงาน,เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน,เจ้าพนักงานเวชสถิติชำนาญงาน,นายช่างเทคนิคชำนาญงานนายช่างโยธาชำนาญงาน และ 6.พิจารณาความก้าวหน้าของ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล(บริหาร) ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้เลื่อนระดับได้ถึง ระดับเชี่ยวชาญ เหมือนตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเหมือนตำแหน่งอื่นๆ

ส่วนมาตรการตอบโต้หลังจากนี้ 1. สหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุขจะเคลื่อนไหวหรือหยุดงานทั้งประเทศ ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และจะชุมนุมเรียกร้องที่กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาน กพ. หลังจากประกาศยกเลิกพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมและคำตอบที่ชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ 2. จะไม่มีการเจรจาใดๆกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข   และกองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อีกต่อไป

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

ปลัดสธ.ลั่นให้ความสำคัญบุคลากรสายแบคออฟฟิศ ไม่แตกต่างวิชาชีพอื่น