ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยองค์การอนามัยโลกยังไม่สั่งระงับทดลองยาต้านมาลาเรียรักษาโควิด ขณะที่กรมอนามัยเผยคนไทยการ์ดตกตั้งแต่ผ่อนปรนระยะแรก โดยเฉพาะเอามือมาสัมผัสบริเวณใบหน้า

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีรายงานจากต่างประเทศวิเคราะห์ว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไทยอยู่ในลักษณะขาลง ใกล้สิ้นสุดการระบาด ว่า แนวโน้มการระบาดของไทยมีรายงานผู้ป่วยหลักเดียวติดต่อกันมาสักระยะ แต่ก็พูดได้เพียงว่าเป็นความสำเร็จของการควบคุมการระบาดในระลอกแรกเท่านั้น ในขณะที่เราค่อยๆ ทยอยผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมต่าง โดยแบ่งเป็นระยะที่ 1,2,3,4 ซึ่งแต่ละช่วงของการผ่อนปรนจึงต้องมีการจับตาอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ

นพ.อนุพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมีรายงานข่าวต่างประเทศรายงานว่าองค์การอนามัยโลกประกาศระงับการทดลองใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) ซึ่งเป็นยาต้านมาลาเรีย เพื่อใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 เนื่องจากกังวลด้านความปลอดภัย ว่า องค์การอนามัยโลกจะมีคณะกรรมการวิชาการที่ติดตามทุกประเทศที่มีการใช้ยารักษาโรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เป็นมาตรฐาน ส่วนการใช้ยาเพื่อป้องกันโรคนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาพบผู้ที่ไม่ได้รับการยืนยันว่ามีเชื้อฯ แต่พยายามใช้ยาต้านมาลาเรียตัวดังกล่าว ส่วนการศึกษายาชนิดต่างๆ เพื่อการรักษาโควิด-19 นั้น เป็นเรื่องปกติที่ยาแต่ละตัวจะมีทั้งผลดี ผลเสีย และผลข้างเคียง แต่ก็จะมีข้อสรุปยาที่สามารถใช้ได้ ซึ่งจากการติดตามยาทุกตัวที่ใช้ขณะนี้ ยังไม่มียาขนานใดที่องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศยับยั้งการทดลอง คาดว่าสิ่งที่สื่อดังกล่าวอาจจะเกิดความเข้าใจผิด

ด้าน นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยจะมีการสำรวจเชิงคุณภาพหลังจากที่มีการผ่อนปรนกินการ/กิจกรรมแต่ละระยะๆ ซึ่งระยะแรกเราพบว่าคนไทยการ์ดตกทุกด้าน ทั้งการคัดกรองวัดไข้ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคล สังคม และการเอามือมาสัมผัสบริเวณใบหน้า รวมๆ ลดลง 5% โดยสิ่งที่ลดลงมากที่สุดคือการเอามือมาสัมผัสใบหน้า จาก 62.9% เหลือ 52.9% การไปใช้พื้นที่สาธารณะโดยไม่มีการสวมหน้ากากหรือเว้นระยะห่าง การคัดกรองไข้จาก 97.2% เหลือเพียง 97% ลดลงเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบว่ามีอาการไข้ 87% ดังนั้นถ้าเราคัดกรองไข้ก็จะช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อได้

ขณะนี้เตรียมสำรวจเชิงคุณภาพหลังผ่อนปรนกินการ/กิจกรรมรอบ 2 เพื่อสำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อให้กับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโควิด-19 (EOC)กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาต่อไป อย่างการคัดกรองไข้ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่แค่วัดอุณหภูมิแล้ว แต่ให้ซักประวัติมีไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหรือไม่ ส่วนการสวมหน้ากากแค่ประกาศให้สวมหรือมีการติดตามหรือไม่ การตั้งเจลล้างมือทุกจุดเข้าออกทำได้ครบถ้วน และมีคนกำกับดูแลหรือไม่ เป็นต้น ด้วย

“ท้ายที่สุดถ้ามีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ เกิดกับสถานประกำอบกิจการใด ทั้งนี้ขอย้ำว่าการระบาดระรอกใหม่ จะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าวิถีชีวิตใหม่ทำกันได้ดี โอกาสเกิดการระบาดระลอกใหม่ก็ยาก” นพ.บัญชา กล่าว