ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา จี้ สธ.จัดหนัก เพจชวนเมาขายเหล้าเบียร์ออนไลน์ ส่งดิลิเวอร์รี่ถึงหน้าบ้าน ระบาดหนักช่วงโควิด ชงออกอนุบัญญัติห้ามขายออนไลน์ เหตุเด็กเยาวชนเข้าถึงง่าย

​เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) พร้อมด้วย นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ จำนวน 15 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ออกประกาศกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในลักษณะออนไลน์ หรือ เดลิเวอรี่ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 30(6) เนื่องจากเป็นการมอมเมาเด็ก เยาวชน ประชาชน ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย ไร้ข้อจำกัดเรื่องอายุ และเวลา มุ่งหวังเพียงรายได้ทางธุรกิจ ไม่สนกฎหมาย ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้นำหลักฐานมามอบให้กระทรวงด้วย

​นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทุกภาคส่วนช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลัง ทุกจังหวัดได้ออกคำสั่งห้ามไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ เพื่อยับยั้งป้องกัน ลดความรุนแรง รวมทั้งลดแหล่งมั่วสุมของประชาชนเพื่อลดการติดเชื้อการแพร่ระบาด แต่เหตุใดช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงหาช่องทางหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่ให้ความร่วมมือ ทำการตลาดขายเหล้าเบียร์ในรูปแบบออนไลน์ แฝงโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการเก็บข้อมูลช่วงโควิด พบว่า ธุรกิจเหล้าเบียร์แทบทุกค่ายรุกทำการตลาดส่งเสริมการขายอย่างหนัก ระบาดตามช่องทางเพจออนไลน์ เดลิเวอร์รี่ส่งตรงถึงหน้าบ้านในช่วงโควิด–19 แม้จะทำเหมือนมีการตรวจสอบอายุผู้ซื้อ หมายเลขโทรศัพท์ แต่ในความเป็นจริง ผู้ซื้อที่อาจจะเป็นเด็กสามารถใช้เบอร์โทรปลอมๆของคนที่อายุมากหน่อย ก็ซื้อเบียร์มาดื่มได้แล้ว จุดนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะเด็กและเยาวชนจะเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้นแน่นอน ก่อนหน้าโควิดมาเราก็พบว่าร้านเหล้าผับบาร์หลายแห่งเริ่มทำระบบสมาชิก ให้นักศึกษาสามารถสั่งเหล้าเบียร์ส่งถึงหอพักกันบ้างแล้ว

 

​ “ปัจจุบันมีเพจ เว็ปไซต์ต่างๆที่ทั้งโฆษณาและขายเหล้าเบียร์ออนไลน์มากมาย อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในหลายประเด็น เช่น ขายนอกเหนือเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะจ่ายเงิน รับส่งสินค้า เป็นคนละช่วงเวลา ตามประกาศสำนัก นายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 หรือ ไม่สามารถตรวจสอบอายุของผู้ซื้อได้ ตามมาตรา29(1) ห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี อีกทั้ง พบว่า มีการแสดงภาพขวดหรือบรรจุภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง ผิดตาม มาตรา32 ซึ่งเป็นการพยายามตีความหลบเลี่ยง ท้าทายกฎหมาย เพื่อให้ได้ขายสิ้นค้าทำกำไรอย่างน่าละอายในช่วงวิกฤต เพื่อหยุดปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีกฎหมายลูกมาควบคุมให้ชัดเจนไปเลย” นายธีรภัทร์ กล่าว

​ด้าน นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกัน เด็กเยาวชนและประชาชน จากปัจจัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ขอให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับบรรดาเพจ เว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการโฆษณา ทำการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.เพื่อป้องกันการตีความเข้าข้างตัวเองเพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ ขอให้เร่งออกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีหรือลักษณะการขายแบบออนไลน์ เป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 (6) 3.ขอคัดค้านความพยายามครั้งล่าสุดของสมาพันธ์ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุราแห่งประเทศไทยที่กำลังล่ารายชื่อกดดันให้มีการยกเลิกมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพียงเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และขอเรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมาได้รับผิดชอบสังคมในการลดผลกระทบจากนำเมาอย่างไรบ้าง และได้ทำการตลาดภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ และ4. เครือข่ายฯพร้อมที่จะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการเฝ้าระวัง การกระทำที่ผิดกฎหมายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกรูปแบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

“หวังว่าข้อเสนอดังกล่าว จะช่วยป้องกันการเข้าถึงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเด็กเยาวชน และลดช่องว่างทางกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการตีความเข้าข้างตัวเองของฝ่ายธุรกิจและเป็นปัญหาในการบังคับใช้ และเครือข่ายฯขอเป็นกำลังใจให้รมว..สธและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่” นายคำรณ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง