ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอประสิทธิ์” อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 แจงประกาศ 10 ข้อพึงปฏิบัติหน้าที่ผู้ป่วย แค่ขอความร่วมมือ ไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลทางคดีทางการแพทย์ แต่เป็นประกาศที่ก่อประโยชน์ในการรักษาโรค เพราะไม่มีการปิดบังข้อมูลสุขภาพ

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ อาคารสภาวิชาชีพ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่1 กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การออกประกาศแพทยสภาที่ 50/2563 เรื่องหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย 10 ข้อว่า เป็นการมีการลงโทษ จำกัดสิทธิผู้ป่วย ทั้งที่แพทยสภาไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจ ว่า หลังออกประกาศดังกล่าวอาจทำให้มีการตีความผิดไป ซึ่งต้องขอยืนยันว่าประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย และแพทยสภาไม่ได้มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย แต่ที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าวเพื่อเป็นคำแนะนำ และขอความร่วมมือจากประชาชนในการดูแลสุขภาพ และการรักษาโรค

ยกตัวอย่างประกาศข้อที่ 2 ซึ่งระบุว่าผู้ป่วยพึงเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพที่เป็นจริง นั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรค และคนที่อยู่ใกล้ชิด อย่างเมื่อการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเข้ามารับการรักษาที่รพ.ศิริราช และไม่บอกว่าไปพื้นที่เสี่ยงมา ทำให้ครั้งนั้นมีบุคลากรการแพทย์ต้องกักตัวถึง 26 คน และหรือกรณีที่เราสอบถามว่าผู้ป่วยใช้ยาอะไรอยู่หรือไม่ ก็เพื่อการพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดการตีกันของยานั้นๆ

หรือประกาศข้อที่ 10 ที่ระบุว่า ผู้ป่วยพึงตระหนักว่าการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดข้างต้นอาจจะส่งผลต่อการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเอง ในบางกรณี หากเกิดความเสียหายต่อสถานพยาบาลหรือผู้ป่วยท่านอื่น อาจได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งในข้อนี้อาจจะทำให้เกิดการตีความและเข้าใจผิดว่าถ้าไม่ทำตามแล้วจะมีบทลงโทษ ดังนั้นตนขอสื่อสารยืนยันว่าไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่กรณีนี้ แพทยสภาเป็นห่วงว่าหากมีการกระทำอะไร เช่น ตีกันในรพ.แล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ จะมีกฎหมายอื่นๆ ที่กำกับอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีภาคประชาชนมีความกังวลว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลต่อการพิจารณาคดีความทางการแพทย์หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าประกาศฉบับนี้ไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีความทางการแพทย์แน่นอน เพราะตัวประกาศไม่ได้ใช้คำว่า “ต้องปฏิบัติ” แต่ประกาศจะใช้คำว่า “พึงปฏิบัติ” ซึ่งหมายถึงการแนะนำ การขอความร่วมมือ ซึ่งจะทำหรือไม่ทำก็ได้ เหมือนกับที่ตอนนี้เราขอให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออกจากบ้าน ถ้าไม่ทำก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าทำก็จะเป็นผลดี ในการป้องกันการติดเชื้อโควิดของคนนั้นๆ และช่วยลด หรือป้องกันการระบาดของโรคในสังคมไทย เป็นต้น

“ขอย้ำและบันทึกผ่านสื่อมวลชนว่าประกาศฉบับดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีความทางการแพทย์ เป็นเพียงประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนเพื่อให้ผลในการรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อตัวผู้ป่วยเอง และเพื่อสังคม” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว.