ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ป่วยทุกประเภททั่วประเทศ ร่วมเครือข่ายผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึง “อนุทิน” ขอยกเลิกประกาศแพทยสภา กำหนดหน้าที่พึงปฏิบัติผู้ป่วย เหตุลิดรอนสิทธิ บางข้อหวั่นมีผลผูกพันทางกฎหมาย

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับหนังสือจากสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสบอ.) เรื่องขอให้ยกเลิกประกาศแพทยสภา ที่ 50/2563 เรื่องหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ทั้งนี้ระหว่างรับหนังสือนายอนุทินตอบกลับสั้นๆ ว่าขอศึกษาเอกสารอีกครั้ง

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภค ขอคัดค้านประกาศของแพทยสภา เรื่องหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย เพราะกรณีนี้ไม่ใช่หน้าที่แพทยสภา ทางสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค(สสบอ.) เห็นว่าหน้าที่ของแพทยสภา คือ การกำกับหน้าที่ของแพทย์ แต่ที่ผ่านมาแพทยสภาทำตัวเป็นสหภาพแพทย์ ริดรอนสิทธิ์ประชาชน ผู้ป่วย และฉวยโอกาสช่วงโควิด-19 มาออกประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ การประกาศคลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจะส่งผลกระทบไปยัง พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขได้

เมื่อถามว่าแพทยสภา ออกมาแถลงยืนยันว่าประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีทางการแพทย์ น.ส.บุญยืน กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะข้อที่ 6 - 7 ที่ให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเซ็นยินยอมเกี่ยวกับการรักษา เมื่อถึงเวลาหากมีการฟ้องร้อง ตรงนี้เขาต้องเอาไปยื่นต่อการพิจารณาคดีอยู่ดี ดังนั้นที่สิ่งที่เขาเอามาพูดถือเป็นการโกหก ขอให้มีการยกเลิกประกาศดังกล่าว หากไม่มีการยกเลิก ทางเครือข่ายฯ คงต้องมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อ อาจจะจะมีการฟ้องร้องตามกฎหมาย เพราะสิ่งที่แพทยสภาดำเนินการอยู่ ถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิประชาชน ออกประกาศโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็น

ด้านนายธนพลธ์ ดอกแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ป่วยทุกประเภททั่วประเทศ กล่าวว่า เครือข่ายผู้ป่วยมีความกังวลต่อประกาศดังกล่าวอย่างมาก โดยเฉพาะข้อ 5-10 ที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายที่จะมีความสุ่มเสี่ยง จึงขอให้แพทยสภายกเลิกหรือแก้ไขโดยมีสัดส่วนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณา จากนี้จะมีการส่งสำเนาหนังสือร้องเรียนนี้ไปถึงแพทยสภา แต่คงไม่ไปด้วยตัวเอง เพราะได้ยื่นต่อ รมว.สธ. ในฐานะนายกพิเศษแพทยสภาไปแล้ว