ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เพิ่มกติกาให้ประชาชนตามสิทธิใน 18 คลินิกทุจริตเบิกงบบัตรทอง ยังสามารถรับการรักษาได้ โดยไปคลินิกใดๆก็ได้ในระบบเครือข่ายไม่เสียค่าใช้จ่าย และคลินิกทำเรื่องเบิกกับสปสบ.ตามปกติ หรือสอบถามสายด่วนบัตรทอง 1330

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพบคลินิกชุมชนอบอุ่น 18 แห่งทุจริตการเบิกงบบัตรทองเกินมากว่า 70 ล้านบาท และกำลังดำเนินคดีทางกฎหมาย พร้อมขยายการตรวจสอบไปยังคลินิกอื่นๆ ว่า ขณะนี้ได้ส่งข้อมูลและแจ้งความที่กองปราบปรามฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม ในข้อหา "ฉ้อโกงและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จไปในระบบคอมพิวเตอร์" หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้สอบสวนต่อ แต่อย่างไรก็ตามทาง สปสช.ได้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาเมื่อวันที่ 8 ก.ค. เพื่อพิจารณารายละเอียดของปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบแล้ว ยังรวมถึงการพิจารณาระบบการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าบริการและคุณภาพบริการ เพื่อดูว่ามีจุดใดที่ต้องพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการดำเนินงานต่อไป ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการภายใน 30 วัน

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า คณะกรรมการทั้ง 8 ท่าน ประกอบด้วย 1.นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย บอร์ด สปสช. เป็นประธาน 2.นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานอนุกรรมการตรวจสอบ 3.รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กก.บอร์ดหลักประกัน 4.ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กก.บอร์ดหลักประกัน 5.ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข ผู้แทนภาคประชาชน กก.บอร์ดหลักประกัน 6.นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้แทนภาคประชาชน กก.บอร์ดหลักประกัน 7.ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ 8.ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

"สปสช.เพิ่มกติกาว่า อนุญาตให้ประชาชนที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา สามารถไปยังคลินิกใดก็ได้ในระบบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและคลินิกนั้นๆ สามารถเบิกกับ สปสช.ได้ตามปกติ การทุจริตนี้ สปสช.เป็นผู้ตรวจสอบพบเอง ดังนั้นระบบมีความแม่นยำอยู่พอสมควร หากมีการทุจริตก็สามารถจับได้อยู่แล้ว และลงโทษตามกฎหมาย ส่วนการบริการประชาชนนั้นยืนยันว่า ไม่กระทบ เราจะพยายามทำทุกอย่างไม่ให้กระทบต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน " ทพ.อรรถพร กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่สงสัยว่าได้รับผลกระทบต่อการบริการหรือไม่ ให้สามารถติดต่อมาได้ที่สายด่วน 1330 หรือแอปพลิเคชั่น “สปสช.สร้างสุข” หรือผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ Line@สปสช.

นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่บอร์ด สปสช. ได้มีมติยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการทั้ง 18 แห่งที่มีการทุจริต โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2563 ซึ่งหน่วยบริการทั้ง 18 แห่งนี้ รับผิดชอบประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่กว่า 2 แสนคน จึงจะต้องหาหน่วยบริการเพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนใหม่ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนหน่วยบริการนั้นจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ โดย สปสช. ได้ประสานกับหน่วยบริการของภาครัฐในพื้นที่ เข้ามาร่วมกันดูแลประชาชนจำนวนดังกล่าว ซึ่งประชาชนมีสิทธิเข้าไปรับบริการที่หน่วยบริการที่ร่วมโครงการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครใกล้บ้าน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กะทันหัน เพื่อความสะดวกของประชาชน ช่วงรอยต่อยังสามารถรับบริการที่ “คลินิกเดิม” ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง โดย สปสช.จะเบิกจ่ายเงินด้วยระบบเบิกจ่ายอีกระบบ และตรวจสอบใกล้ชิด

“สิทธิของประชาชนทั้ง 2 แสนคนนั้นยังอยู่ เพื่อความสบายใจจึงอยากให้ประชาชนไปรับบริการในหน่วยบริการภาครัฐบริเวณใกล้เคียงก่อน แม้จะไม่ได้มีสิทธิอยู่ในหน่วยบริการนั้น แต่ก็ยังสามารถเบิกจ่ายระบบของ สปสช.ได้ตามปกติ โดยประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และผู้ป่วยสามารถขอประวัติการรักษาจากคลินิกเดิม เพื่อนำไปรักษาต่อเนื่องยังหน่วยบริการแห่งใหม่ได้” นพ.วีระพันธ์ กล่าว