ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.เห็นชอบแผนบริหารกองทุนบัตรทอง ปี 2564 กระจายงบกว่า 1.9 แสนล้านบาท ดูแลประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข รวมถึงยาจำเป็น พร้อมเร่งส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกยุคโควิด-19

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ได้เห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 194,508.78 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 177,198.99 ล้านบาท โดยหลังหักเงินเดือนภาครัฐ 52,143.97 ล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายที่ส่งให้ สปสช.บริหาร 125,055.01 ล้านบาท และงบนอกเหมาจ่ายรายหัวอีก 17,309.79 ล้านบาท อาทิ ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ค่าบริการควบคุมป้องกันโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดัน จิตเวช) ค่าบริการผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน เป็นต้น

ภาพรวมการบริหารกองทุนฯ ส่วนใหญ่คงการบริหารเหมือนในปี 2563 ยกเว้นรายการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่ หรือการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร เช่น เพิ่มรายการโรคเลือดออกง่ายทางพันธุกรรม หรือโรควอนวิลลิแบรนด์ชนิดรุนแรงมาก (von Willebrand disease) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเลือดออกง่าย การเพิ่มวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน เพิ่มคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มอายุ การรวมบริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบ Fit Test ในงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปรับการจ่ายบริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care: IMC) เพิ่มบริการฝังเข็มหรือบริการฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้าในผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ การบูรณาการงบบริการปฐมภูมิที่เน้นความคุ้มค่าและประสิทธิผลในเขต กทม. (Value Based Health Care: VBHC) เป็นต้น

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2564 การจัดสรรงบยังได้ชูยุทธศาสตร์สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พร้อมสนับสนุนการจัดบริการรองรับนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ไม่ว่าจะเป็นบริการร้านยาสุขภาพชุมชน ในรูปแบบ 1-3 บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine) บริการร่วมให้บริการด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือด้านกายภาพบำบัด นอกจากนี้ยังมีบริการเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

“ในที่ประชุม รมว.สาธารณสุข และบอร์ด สปสช. ได้เน้นย้ำให้ สปสช. ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเชิงรุกในยุคโควิด-19 โดยเน้นสิทธิประโยชน์ใหม่ จัดระบบบริการที่เหมาะกับคนทุกสิทธิ การจัดการการเงินการคลังใหม่ และการติดตามการเข้าถึงบริการอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผนและวงเงินการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 12,980.42 ล้านบาท โดยในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัว มีการซื้อกลุ่มยาจำเป็น (ยา จ.2, ยากำพร้า และยาต้านพิษ) ยาวัณโรค วัคซีน ยายุติการตั้งครรภ์ และสายสวนหัวใจ เป็นต้น กว่า 5,643 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมียาต้านไวรัสเอชไอวีและถุงยางอนามัย 2,719 ล้านบาท และน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง สายเพื่อใช้สำหรับล้างไตผ่านช่องท้อง และยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง 4,617 ล้านบาท ซึ่งกระบวนการวางแผนจัดหายาฯ ได้ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มยาราคาแพงมาอย่างต่อเนื่อง