ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 รพ.ราชบุรี ย้ายจนท.รับสาย 1669 เลียนเสียงไม่เหมาะสม พร้อมเข้าขอโทษญาติผู้เสียชีวิต ส่วน สพฉ.ขอให้เชื่อมั่น เตรียมยกระดับศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทั่วประเทศ

หลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Pronrawin Ongpisut ได้โพสต์ข้อความกรณีโทรศัพท์ถึงสายด่วน 1669 เพื่อให้มารับตัวพ่อที่มีอาการหายใจไม่ออก จุกบริเวณคอไปที่โรงพยาบาล แต่กลับพบว่าเมื่อโทรไปก็ไม่สามารถติดต่อได้ จึงพยายามติดต่อจนครั้งที่ 3 มีผู้ชายคนหนึ่งรับสาย และพูดว่า "ไม่ได้ยินครับ ไม่ได้ยินครับ พร้อมกับเลียนเสียงตัดสาย ตู้ด ตู้ด" และวางสายไป ล่าสุดพ่อได้เสียชีวิตแล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 21 ก.ค. นพ.พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผอ.โรงพยาบาลราชบุรี กล่าวถึงกรณีญาติผู้เสียชีวิตออกมาเปิดเผยถึงการโทรศัพท์ประสานงานมายังสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอให้ไปรับตัวบิดา ซึ่งมีอาการหายใจไม่ออก โดยมีการโทรเข้ามา 3 ครั้ง แต่ครั้งที่ 3 ทางญาติรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ที่รับสายล้อเลียนด้วยการพูดทำนองเหมือนเป็นการตัดสาย “ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ด” ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเจ้าหน้าที่ชายซึ่งเป็นผู้ที่รับสายครั้งที่3 มีการพูดคำว่า “ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ด” จริงๆ แต่ไม่ได้ตั้งใจจะล้อเลียน เพียงแต่ในขณะนั้นมีปัญหาที่เครื่องมือสื่อสาร โดยญาติผู้เสียชีวิตได้ยินเสียงสนทนา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ยินเสียงสนทนา จึงบอกไปว่า “ไม่ได้ยิน แต่ยินแต่เสียง ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ด” ไม่ได้มีเจตนาที่จะล้อเลียนแต่อย่างใด

นพ.พิเชียร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้เดินทางไปขอโทษกับญาติผู้เสียชีวิตด้วยตัวเอง ที่วัดดอนตะโก   อย่างไรก็ตาม เรื่องการสื่อสารกับญาติผู้ป่วย หรือผู้เสียชีวิตนั้นเป็นเรื่องสำคัญเพราะฉะนั้นทางโรงพยาบาลราชบุรีจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่เรื่องการสื่อสารในเร็วๆ นี้ เบื้องต้นได้ให้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวปฏิบัติการที่แผนกอื่นไปก่อน

 ด้าน นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการ และโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิต สพฉ. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานและคุณภาพของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน อยู่ระหว่างรอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จากโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข แต่จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า หลังจากรับแจ้งแล้วมีการจัดรถไปถึงตัวผู้ป่วยภายในเวลา 7 นาที ซึ่งถือว่าดีมาก ทั้งนี้ แต่ละศูนย์จะมีระบบ ตรวจสอบควบคุมคุณภาพภายในอยู่แล้ว กรณีร้องเรียนดังกล่าวทาง สพฉ. เองก็น้อบรับคำแนะนำ เพื่อที่จะหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ 1669 ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป 

รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยปฏิบัติการอำนวยการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำเกณฑ์ประเมินคุณภาพของหน่วย หนึ่งในนั้นคือการระบุว่าบุคคลากรในศูนย์ควรผ่านการอบรมหลักสูตรใดบ้าง และที่ศูนย์ต้องมีเครื่องบันทึกเสียง เพื่อติดตามประเมินผลการให้บริการ

“ทาง สพฉ. ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐจัดให้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนในประเทศ  ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมงทุกสิทธิการรักษา ที่ผ่านมามีสถิติการให้บริการทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศยาน กว่า 1.7 ล้านครั้งต่อปี มีระบบการคัดแยกระดับความรุนแรงของอาการฉุกเฉิน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม 30 % ของการโทรเข้ามา เป็นสายก่อกวน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบริการไม่ได้รับความสะดวก และกระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องรับบริการเร่งด่วน ”
รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว