ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานบอร์ด อภ. เตรียมนำเข้าเทคโนโลยีแบ่งบรรจุวัคซีนโควิด-19 ด้านนายกสมาคมเภสัชฯ จี้เตรียมพร้อมยาโรคเรื้อรังหากระบาดรอบสอง แนะไทยต้องมีกลไกกลางระบบยา ทำห่วงโซ่อุปทานระบบยาให้เป็นระบบ

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 สำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) จัดเวที “ Visual Policy Forum : เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ Covid-19” โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ผลกระทบของ Covid-19 เมื่อสุขภาพกำหนดวาระทางสังคม”

ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนา “ วัคซีน - ยา : ความหวัง - โอกาส – วิกฤต” โดย นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa) และนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ว่า จากสถานการณ์เชื่อว่ามีระยะที่ 2 เพราะอย่างสหรัฐก็มาก อินเดียก็ยังพบผู้ป่วยสูง ตัวโรคก็ยังอยู่ ดังนั้น การเตรียมตัวเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนขององค์การเภสัชกรรม ถือเป็นองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑืของประเทศที่มีนวัตกรรที่สร้างคุณค่าและยั่งยืน โดยต้องจัดหายา วัคซีน ชุด PPE และเครื่องมือต่างๆในการป้องกัน หน้ากากในการรองรับ

นพ.โสภณ กล่าวว่า โดยหลักต้องเตรียมพร้อม 3 เรื่อง เริ่มจาก 1. เรื่องยา Favipiravir เป็นยาที่ญี่ปุ่นผลิตขึ้นมาก่อน ซึ่งระยะแรกได้มีการสั่งซื้อ หลังจากนั้นก็มียาสามัญขึ้นมาจากจีน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ณ วันที่ 15 ก.ค. 2563 มีอยู่ 590,680 เม็ด ดูแลผู้ป่วย 8,400 คน แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะใช้ แต่ต้องเริ่มมีปอดบวมก็จะลดความรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ เรายังซื้อวัตถุดิบสารเคมีตั้งต้น เพื่อนำมาผสมสูตร ขณะนี้ทำแล้วในห้องทดลอง และเดือน เม.ย.จะทดลองชีวสมดุล และขึ้นทะเบียนในเดือน ต.ค.2564 แต่อันนี้ยังไม่ได้ต้นน้ำจริงๆ เราต้องผลิตสารเคมีตั้งต้นเองได้ ซึ่งเราร่วมกับไบโอเทค สวทช. ในการผลิตสารเคมีตั้งต้นตรงนี้ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องทำเพื่อความยั่งยืน โดยคาดว่าปี 2565 จะดำเนินการได้

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า 2.เรื่องวัคซีน ถือเป็นความหวังมาก ซึ่งวัคซีนมี 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 เอาตัวไวรัสโควิด โดยทำให้อ่อนแรง และทำให้ตายเลย แต่ที่ทำกันมากของจีน คือ เอาตัวไวรัสทั้งตัวฉีดเข้าไปเพื่อรกะตุ้นภูมิต้านทาน โดยทดลองขั้นที่ 3 ซึ่งต้องทดลองคนหลายๆเชื้อชาติ แต่ก่อนหน้านั้นต้องทดลองในสัตว์ก่อน กลุ่มที่ 2 เอาไวรัสตัวอื่น แต่เอายีนของโคโรนาใส่เข้าไป เพื่อให้สร้างสารมากระตุ้น และระงับการแบ่งตัวไม่ให้เข้าเซลล์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันออกฟอร์ตกำลังทำอยู่ ซึ่ง อภ.ก็พยายามทำโดยใช้เทคโนโลยีนี้เหมือนกัน

“อันนี้ในระดับโลกจะมีทั้งข้อ 1 และข้อ 2 แต่ก็ต้องดูภูมิต้านทานว่าจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ ก็ต้องติดตามต่อไป ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นพวกดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ ซึ่งดีเอ็นเอ ก็จะเป็ฯของไบโอเน็ท เอเชีย ส่วนอาร์เอ็นเอไวรัส ที่จุฬาฯ ทำ ซึ่งฉีดทดลองในลิง และภูมิต้านทานดี และสเต๊บต่อไปก็คือต้องดูว่าทดลองในคนจะเป็นอย่างไร อันนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่มีวัคซีนในโลกที่ใช้ แต่ไทยทำได้กำลังดำเนินการ” นพ.โสภณ กล่าว

ประธานบอร์ด อภ. กล่าวอีกว่า ในส่วนของอภ.กำลังหารือในการประสานเทคโนโลยีในการแบ่งบรรจุ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนได้ ต้องรอผลการเจรจา และอาจใช้เทคโนโลยีด้วยการนำเชื้อฉีดเข้าไข่ฝัก เพื่อสร้างภูมิต้านทานออกมา โดยอภ.มีโรงงานลักษณะดังกล่าวที่จ.สระบุรี สืบเนื่องจากมีองค์กรเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาชวน อภ.ว่าสนใจหรือไม่ ซึ่งนโยบายเราต้องเข้าถึงวัคซีน เราก็ร่วมมือกับเขา โดยระหว่างนี้ก็ทดลองทำอยู่ในการฉีดวัคซีนในไข่ฟัก และทดลองในหนู คาดว่าจะทราบผลปลายเดือนต.ค.2563 ซึ่งองค์กรนี้เขาให้งบประมาณด้วย เราก็ของบไปประมาณพันกว่าล้านบาท แต่หากไม่ได้ แต่เราได้เทคโนโลยีก็ถือว่าก้าวหน้า นอกจากนี้ เราก็ให้งบสนับสนุน ทั้งจุฬา และมหิดลในการวิจัย Cell- based Covid-19 Vaccine ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ จึงกำลังหารือว่าจะลงทุนเรื่องนี้อย่างไร ทั้งหมดก็เพื่อให้ไทยพึ่งพาตนเองให้ได้

นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของชุด PPE นั้น จะมี 4 ระดับ คือ ระดับ 1 ทนแรงดันน้ำได้นิดหน่อย ระดับ 2 ทนได้มากขึ้นน้ำไม่ซึมผ่าน ระดับ 3 ทนแรงดันน้ำได้ 50 เซนติเมตร ระดับ 4 ทนได้สูงสุด ป้องกันเลือดหรือเชื้อต่างๆ ได้ ช่วงแรกที่มีการระบาด การสั่งชุดสั่งได้ที่เวียดนาม ตอนนั้นเราคิดว่าต้องพึ่งตนเอง จนพบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มหาวิทยาลัยมหิดล อภ. กรมวิทยาศาสตร์บริการ และจุฬาฯ ร่วมกันหารือจนสามารถผลิตเองได้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ถึง 25 รายที่สามารถผลิตชุด PPE ได้ และยังเป็นชุดที่นำมาใช้ใหม่ได้อีก ซึ่งราคาจะถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า กลไกธุรกิจยาค่อนข้างซับซ้อน หลายอย่างก็เป็นหลุมดำ อย่างการวิจัยพัฒนานั้น เมื่อทำสำเร็จมีการตั้งราคาแพงเกินไปหรือไม่ จึงเกิดคำถามกรณีวัคซีนโควิด19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่กระจายไปทั่วโลก ความหวังของทุกคนก็มองว่า วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาน่าจะเป็นสินค้าของสังคมโลก ไม่ควรมีการผูกขาด ประเด็นคือจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งระดับโลกก็มีการพูดคุยเรื่องนี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ยาโควิด19 ก็มีการพัฒนา แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีมาตรฐานแน่ชัดในการรักษาโควิด แต่ประเทศไทยเรามีประสบการณ์ในการรักษาโควิดแบบองค์รวม

“ปัจจุบันเราห่วงเรื่องยา วัคซีนโควิด แต่คำถามคือ จากคลื่นลูกที่หนึ่งเรื่องของยาที่ผ่านมา เรามีปัญหาหรือไม่ คำตอบคือ มี โดยผู้เผชิญปัญหาคือ สถานพยาบาล อย่างยาโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องรับประจำ เริ่มมีปัญหาขาดแคลน เพราะสถานพยาบาลมีข้อมูลคาดการณ์ และสั่งการล่วงหน้า สต๊อกจากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน ปรากฏว่า เมื่อสั่งไป ยาก็เริ่มขาด เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะระบบการกระจายยา ก็เหมือนกรณีไข่ไก่ ไม่แตกต่างกัน ตรงนี้หากเราไม่เตรียมตัวในคลื่นลูกที่ 2 และหากผู้ป่วยมาก แต่เราไปมุ่งยาโควิด วัคซีน ปัญหาระบบยาอื่นๆจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ จากบทเรียนคลื่นลูกที่ 1 ต้องพิจารณาปัญหาภาพรวม” รศ.ภญ.จิราพร กล่าว

รศ.ภญ.จิราภรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่ง อภ.และสมาคมผู้ผลิตยาภายในประเทศก็ร่วมหารือกัน แต่เราก็ยังขาดข้อมูล ขาดเรื่องห่วงโซ่อุปทานของระบบยาอย่างเป็นระบบ จริงๆ เรามีความสามารถ แต่เราไม่มีกลไกกลางในการประสานจัดการ ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปเรื่องนี้ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องระวัง คือ ปัจจุบันเราพบการขายยาออนไลน์ เพราะอาจเพราะช่องทางเปิดในช่วงโควิด แต่จริงๆคือ อันตรายมาก และยังผิดกฎหมายอีก

นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa) กล่าวว่า ปัจจุบันยา และวัคซีนโควิดมีการผลิตในหลายประเทศ ซึ่งเมื่อมีการเจรจา ก็ควรเจรจาในหลายประเทศ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องถามทางภาครัฐว่า จะมียุทธศาสตร์ในการเจรจาเรื่องนี้อย่างไร คือ 1.อาจคุยตั้งแต่เนิ่นๆ และ2.เจรจาใกล้สำเร็จแล้ว โดยสิ่งสำคัญต้องเจรจาหลากหลายประเทศที่แตกต่างกันไป เพราะเรามีประสบการณ์ในการเจรจาอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น อย่ากลัวการเจรจา

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงแรกได้มีการหารือกับทางการแพทย์ว่าต้องการอะไร ซึ่งก็ได้มีการทำห้องโมบายยูนิตในการสวอปเชื้อ โดยได้ทำและกระจายให้แก่รพ.ทั่วประเทศประมาณ 40 แห่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากปิดประเทศ เราเรียนรู้อะไร เช่น อาหาร เรามีและอยู่ได้ ระบบสุขภาพ เรามีหมอ แต่เรื่องงาน ตกงานกันเยอะ จนมีนโยบายออกมาช่วยเหลือ แม้แต่ก่อนจะมีการเปิดเมือง ก็มีการหารือร่วมกันทุกฝ่ายจนออกเป็ฯมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างที่เห็นกัน ว่า การเปิดเมืองแต่ละเฟสจะเป็นอย่างไร ปัจจุบันเปิดมา 5 เฟสแล้ว