ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสวนารับมือโควิดระบาดรอบ 2 ทุกฝ่ายยัน เปิดประเทศจำเป็น แต่ไทยพร้อมรับมือแม้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เตือนอย่าการ์ดตก สร้างวัคซีนสังคม รักษาระดับการป้องกันเข้มเหมือนเดิม

นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขด้านต่างประเทศ ได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายในเวที “ Visual Policy Forum : เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ Covid-19” จัดโดยสำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS)

โดยภาคเช้า  ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ปาฐกถาในหัวข้อ "ผลกระทบโควิด-19 เมื่อสุขภาพกำหนดวาระทางสังคม" ต่อมาเป็นการเสวนาหัวข้อ “แนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมรับมือการระบาดรอบที่ 2 ของ Covid-19" มี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล , นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค สธ. และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ สธ.

จากนั้นภาคบ่าย ระดมสมองในหัวข้อ “วัคซีน - ยา : ความหวัง - โอกาส - วิกฤต" มี นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม , รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม , นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa) และ นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ข้อสรุปเวทีเสวนา โดยนพ.สุวิทย์ มีสาระสำคัญดังนี้ 

ข้อสรุปที่ 1 ฟันธงได้เลยว่าการระบาดระลอกใหม่จะมีแน่ และน่าจะภายในปีนี้หรืออาจจะภายในเดือนกันยายนคืออีกสองเดือนข้างหน้า ส่วนจะรุนแรงแค่ไหนขึ้นกับปัจจัย 3 ประการ ประเทศทั่วโลกขณะนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 

กลุ่มที่ 1  ระบาดแล้วและยังระบาดอยู่ที่เด่นๆ ก็ สหรัฐอเมริกา บราซิล ใกล้บ้านเราหน่อยก็ อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ 

กลุ่มที่ 2 ระบาดแล้วคุมได้แล้วและยังไม่ระบาดใหม่ เช่น จีน ไต้หวัน ไทย รวมทั้งอิตาลี และยุโรปหลายประเทศที่เคยระบาดหนักมาแล้ว

กลุ่มที่ 3 ระบาดแล้วคุมได้แล้ว และมีการระบาดระลอกใหม่แล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น อิสราเอล และ โครเอเทีย แม้จะยังไม่ชัด แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงเท่าหรือมากกว่าเก่า

ประเทศทั่วโลกเริ่มจากกลุ่มหนึ่ง ไปสอง และไปสาม ไทยเราอยู่กลุ่มสอง จึงมีโอกาสสูงที่จะไปสาม

เราไม่สามารถปิดเมืองปิดประเทศไปตลอด เพราะผลกระทบเศรษฐกิจ รุนแรงมาก และแม้จะปิดประเทศทางอากาศได้ ก็ยังมีความเสี่ยง จากชายแดนทางบก โดยเฉพาะสหภาพเมียนมาร์ ที่ติดกับบังคลาเทศ และอินเดีย และทางน้ำจากชาวประมงที่ไปจับปลาในน่านน้ำ มหาสมุทรอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 

ส่วนการเปิดเมืองที่มีความเสี่ยงที่สุดคือ สนามมวย สนามกีฬา ผับ/บาร์ การรวมกลุ่มผู้คนในด้านสังคมต่างๆ

ความรุนแรงจะขึ้นกับว่า 

1 เราจะเปิดเมืองและเปิดประเทศอย่างไร เร็วและระมัดระวังแค่ไหน และมีเงื่อนไขอย่างไร และเข้มงวดกับเงื่อนไขแค่ไหน

2 ขีดความสามารถในการสอบสวนหาคนติดเชื้อและผู้สัมผัสโรค เพื่อนำไปรักษา แยกโรค และกักตัว จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการอาจมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดด้วย

3 ประชาชนไทยยังมั่นคงในความร่วมมือกันที่จะป้องกัน การระบาดแบบที่เราทำได้ดีมาตลอด 4-5 เดือนได้มากน้อยแค่ไหน

สถานการณ์ที่น่าจะดีที่สุด เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่คือ แบบประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาคือ มีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศทุกวัน แต่ไม่เกินความสามารถของระบบสุขภาพของประเทศที่จะรองรับได้

ข้อสรุปที่ 2 หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ ระบบบริการสุขภาพ จะสามารถรองรับได้หากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 250 หรือสูงสุดไม่เกิน 500 คนต่อวัน

เรามีเตียงรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักพร้อมแพทย์พยาบาลที่ได้ฝึกมาอย่างดี และมีประสบการณ์จากการระบาดรอบแรกแล้ว พร้อมเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องใช้ในการรักษาและป้องกันตนเองครบ ราว 500 เตียง และหากจำเป็นอาจเพิ่มได้ถึง 1,000 เตียง ถ้าคิดว่าผู้ติดเชื้อ 100 คนจะมีอาการหนัก 5 คน และแต่ละคนนอน 40 วัน เราจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ วันละ 250-500 คน ดังนั้นหากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อวันละไม่เกิน 500 คน ระบบบริการสุขภาพของเรารองรับได้ 

ในการระบาดรอบที่แล้ว มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละราว 100 คน แปลว่าเราสามารถรองรับการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมถึง 2.5-5 เท่าได้ และนอกจากนี้เรายังมีทักษะในการดูแลรักษาดีขึ้น สังเกตุว่าระยะหลังๆไม่ค่อยมีคนเสียชีวิต ตัวเลขติดอยู่ที่ 58 คนมานานแล้ว แม้จะยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ทุกวัน

แต่เราคงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น และคณะแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาที่ต้องคอยสอบสวน หาผู้สัมผัสโรคและนำไปกักตัวไว้ จะต้องทำงานกันหนักอีกครั้งหนึ่ง

ข้อสรุปที่ 3  จะมีวัคซีน ที่ได้ผลในการป้องกันและ รักษาโควิดเมื่อไรไม่มีใครบอกได้ คาดว่าอย่างเร็วก็ปลายปีนี้ หรือภายในกลางปีหน้าอาจมีวัคซีน หรืออาจไม่มีในระยะเวลาอันไกล้ก็ได้

ขณะนี้วัคซีนยังอยู่ระหว่างการวิจัย ในระยะต่างๆกัน ไม่มีใครทราบว่าเมื่อไรจะมีวัคซีนที่ได้ผลอย่างน้อย 50% ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอาจจะเริ่มมีวัคซีนบางตัวออกมาภายในปีนี้ และมีหลายตัวจะออกมาในปีหน้า แต่ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าจะมีเมื่อไร 

ที่สำคัญก็คือ เมื่อมีวัคซีนที่ได้ผลแล้ว ประเทศไทยจะได้รับและคนไทยจะได้ใช้เมื่อไร องค์กรระดับโลกร่วมกันตั้งเป้าหมายว่า ภายในปีหน้า จะจัดหาวัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้ 20% ของประชากร คือราว  2,000 ล้านโดส ประเทศไทยจะต้องตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมโครงการระดับโลกนี้ โดยจ่ายเงินค่าวัคซีนล่วงหน้าหรือไม่ ซึ่งก็มีความเสี่ยงว่า ถ้าวัคซีนที่เลือกไว้ 7 ชนิด เกิดไม่สำเร็จเลยแม้แต่ตัวเดียว ก็เสียเงินเปล่า และต้องมีการจัดลำดับความสำคัญไว้ล่วงหน้าว่าถ้ามีวัคซีนที่ได้ผล ประชาชนกลุ่มไหนจะได้ก่อน 

สำหรับเรื่องยา ในขณะนี้ยังไม่มียาตัวใดที่มีการพิสูจน์ว่า ได้ผลในการรักษาโควิด อย่างชะงัด มีเพียงการศึกษาที่ใช้ยาสเตียรอยด์ช่วยลดอัตราตายในผู้ป่วยหนักได้ ราวกว่า 10% และยา เรมเดสซิเวียร์ ที่มีราคาเกือบแสน ในสหรัฐอเมริกา ก็เพียงช่วยให้กลับบ้านเร็วขึ้นสี่วัน แต่ไม่ลดอัตราการตาย 

ข้อเสนอที่ 1 เปิดเมืองให้กว้างขึ้นและเปิดประเทศให้เศรษฐกิจเดินได้ คนมีงานทำ โดยหลักการสามข้อ

1 ไม่ตั้งเป้าผู้ติดเชื้อใหม่เป็นศูนย์ ยอมให้มีได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องตกลงกันว่าจะเป็นเท่าไร 100, 200 หรืออาจถึง 500  ต่อวัน

2 ดำเนินการเปิดเป็นขั้นตอนด้วยความระมัดระวัง และเข้มงวดในเงื่อนไขต่างๆ โดยไม่ให้มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ภายใต้กลไกที่มีส่วนร่วมอย่างจริงจังทั้งภาครัฐ เอกชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมและชุมชน การเปิดประเทศก็เลือกมาตรการตามสถานการณ์การระบาดของประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกับตอนเริ่มปิดประเทศ คือใช้ระบบ “แง้มประตู” 

  3 หากมีการระบาดเกิดขึ้นในวงแคบ ก็จัดการด้วยการควบคุมโรค หรือหากจำเป็นต้องล็อกดาวน์ก็ทำจำกัดเฉพาะพื้นที่ มาตรการต่างๆที่จะใช้ให้เลือกใช้ ตามพื้นที่และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ที่พบในแต่ละวัน และต้องมีประสิทธิภาพ ทันเวลา 

ข้อเสนอที่ 2 ไม่ต้องรอวัคซีนและยา แต่เร่งสร้างความเข้มแข็งของ “วัคซีนสังคม” อย่างต่อเนื่อง เรามีวัคซีนสังคม ที่ได้ผลชะงัด และมีต้นทุนต่ำ และประชาชนทำเองได้ ไม่ต้องใช้บุคลากรสาธารณสุข ได้แก่

รณรงค์ให้ประชาชนและสถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาเข้าระบบการใช้ชีวิต และการทำงานแบบใหม่ อย่างต่อเนื่อง ให้เป็น นิวนอร์มอล ที่สามารถทำงานที่บ้านได้อย่างน้อยเป็นบางวัน ตลอดไป ไม่เลิกเมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติ ประชาชนต้อง “ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” ระบบบริการสุขภาพก็ดำเนินการบริการสุขภาพและบริการส่งมอบยาผ่านร้านขายยาและทางไปรษณีย์ แม้กระทั่งการเจาะเลือดตรวจ ที่บ้านหรือไกล้บ้าน ไม่แออัดและลดเวลาการรอคอย 

กระตุ้นให้ประชาชนและชุมชน รักษาระดับการป้องกันการระบาด โดยเฉพาะการเดินทาง การรักษาระยะห่างทางสังคม การล้างมือบ่อยๆ และการใส่หน้ากาก รวมทั้งการใช้แอป “ไทยชนะ”อย่างถ้วนหน้า

3 ประชาชนทุกคนร่วมกันในการเป็นนักเฝ้าระวังและสอบสวนโรค สามารถเอกซ์เรย์ทุกตารางนิ้วของประเทศได้ เพื่อหาผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัส เราก็จะมี “ตำรวจโควิด” หลายสิบล้านคนทั่วประเทศ

ข้อเสนอที่ 3 พัฒนาระบบการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ทั้งในภาคการเงินและภาคการผลิต ให้เกิดผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว

1 ต้องใช้โอกาสนี้ในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อย่างยั่งยืน โดยเน้นที่ผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และประชาชนชายขอบ รวมทั้งโอกาสของนวัตกรรมทั้งทางเทคโนโลยีและทางสังคม

2 การเยียวยานี้จะต้องดำเนินการในระยะที่นานพอ อย่างน้อยอีก1-2 ปีข้างหน้า โดยควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน

3 การเยียวยาต้องมีความเพียงพอ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ไม่ผ่านเพียงระบบราชการเท่านั้น