ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ เพื่อทำโครงการ“รู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติที่สาขา    ธ.ก.ส. และพื้นที่ในการกำกับดูแลของ สปสช. จำนวน 100 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งแล้วเสร็จทั้งหมดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้ประชาชนที่มาใช้บริการตรวจวัดฟรี เพื่อให้รู้เท่าทันด้านสุขภาพ ตระหนักเรื่องการป้องกันดูแล สร้างเสริมตนเองให้มีสุขภาพดี และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือ Non-communicable diseases-NCDs เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรค

นายนิพัฒน์ เกื้อสกุล รองผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า  โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ ธ.ก.ส. ในการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรไทยและครอบครัว เพื่อให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรและครอบครัวดีขึ้น ทำให้ประชาชน เกษตรกรและครอบครัว มีความรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพรู้เท่าทันป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นการป้องกัน ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ได้พัฒนาและติดตั้งเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถการชั่งน้ำหนัก บันทึกค่าส่วนสูง วัดความดันโลหิต การประมวลผลดัชนีมวลกาย โดยผลของการวัดที่ได้จะถูกแปลค่าและประเมินระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพ มีข้อมูลให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว ทั้งข้อมูลนี้จะถูกส่งไปที่ระบบคลาวด์ (Cloud) เพื่อเก็บข้อมูลผู้ถูกวัดแต่ละคนไว้ เพื่อติดตามความคืบหน้าระบบสุขภาพที่เป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่ง สปสช. สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และติดตามข้อมูลสุขภาพประชาชน ตลอดจนนำไปกำหนดนโยบายสุขภาพที่เหมาะสมกับชุมชนแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคได้

“ระบบระบบคลาวด์ (Cloud) จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่วยเสริมการจัดเก็บข้อมูลที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ได้ทำอยู่แล้วนั้นให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ในอนาคตทีมวิจัยจะพัฒนาต่อยอด ให้เครื่องฯ ให้มีฟังก์ชันเซ็นเซอร์เพิ่มเติม เช่น เซ็นเซอร์การตรวจวัดสารพิษในร่างกายให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าหลัก ของ ธ.ก.ส. ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อการกำหนดนโยบายการป้องกันสุขภาพ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งเครื่องนี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดนำไปสู่การใช้งาน และตอบโจทย์เทคโนโลยีที่จะช่วยในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” ดร.ชัย กล่าวทิ้งท้าย

ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวยังสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ และผลักดันให้เกิดการขยายผลเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้ก้าวสู่สังคมที่มีคุณภาพด้านสุขภาพ การแพทย์ และตอบโจทย์ประชาชนคนไทยให้ดีขึ้น และยังสอดรับกับแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)