ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพราะยังไงสถานการณ์ระบาดของโควิดระลอก2 ในไทยกลับมาอย่างแน่ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องแย่ๆเท่านั้น แต่มันสอนให้เรามีประสบการณ์ และพร้อมปรับตัวให้เข้ากับทุกสิ่งในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

สกัดองค์ความรู้จากเวทีเสวนาที่สำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) จัดเวที “ Visual Policy Forum :  เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ Covid-19” เมื่อวานนี้ โดยช่วงเช้ามีปาฐกถาพิเศษจาก .คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ ผลกระทบของ Covid-19 เมื่อสุขภาพกำหนดวาระทางสังคม  

จากนั้น 3 กุนซือระดับประเทศฝ่ายวิชาการในการคุมระบาดของโควิดในครั้งนี้ ทั้ง.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล , นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค สธ. และนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ สธ. เสวนาต่อในหัวข้อ แนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมรับมือการระบาดรอบที่ 2 ของ Covid-19” 

ระลอก 2 ยังไงก็มาแน่นอน เพราะตามธรรมชาติของโรค ยังไงก็ต้องมีการระบาดรอบต่อๆมา แต่หวังว่า ระลอกต่อมา คงจะไม่อยากให้เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายเหมือน100 ปีก่อน แบบ Spanish Flu ที่ทำให้มีเฉพาะคนตายกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก แต่จะทำอย่างไรละที่จะลดทอนให้การระบาดไม่รุนแรงเท่านั้น 

และสิ่งที่ตัวจริงเรื่องโควิดทั้ง 4 ท่าน พูดตรงกันและอยากทำความเข้าใจกับสังคมภาพรวมคือ อย่าตั้งความหวังว่า คนป่วยจะต้องเป็น 0 รายไปตลอดกาล เพราะประเทศอื่นๆในโลก ยังระบาดกันอยู่ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า เรารับมือและจัดการกับผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วและอยู่หมัดหรือไม่ และไม่เกินขีดความสามารถในการรักษาของเราหรือเปล่า

ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดอาจเป็น 0 ราย ตึงมาตรการปิดประเทศอย่างเข้มงวด แต่อาจมีผู้เสียชีวิตและโคม่าจากพิษเศรษฐกิจอีกจำนวนมากมายมหาศาลก็ได้ ดังนั้นเราต้องรักษาสมดุลของการสาธารณสุขไปพร้อมเศรษฐกิจและบริบทโดยรวมด้วย โฟกัสเฉพาะจุด ติดตามเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องและสัมผัสใกล้ชิด แต่ไม่ใช่หว่านแบบทั้งหมดแบบเดิมอีกแล้ว

 

ตอนจบของโควิด

ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม อธิบายตอนจบที่ยังไม่ถึงของสถานการณ์โควิดไว้ว่ามี 3 ทาง

1 วัคซีน ซึ่งขณะนี้ใช้เวลาประมาณ 1ปี ถึง 1ปีครึ่ง กว่าที่จะมีการผลิตวัคซีนออกมาใช้

2 เมื่อมีคนติดเป็นจำนวนมากเกิน 70% ของประชากรในประเทศ จะกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายให้คนไม่สามารถแพร่เชื้อกันได้ แต่ขณะนี้ในไทยมีการสุ่มตรวจภูมิต้านทานพบว่ามีน้อยไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ

3 ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์จนหยุดการแพร่ระบาดไปเอง ซึ่งโอกาสก็เป็นไปได้ยาก

 

ดังนั้นทางที่เป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้คือ ทางที่ 1 คือวัคซีน เพราะทางเลือกที่ 3 ดูท่าจะหาอะไรมาพิสูจน์ยาก และทางเลือกที่ 2 ล่าสุด ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ พูดในวงเสวนาว่าล่าสุด มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ได้เปิดเผยงานวิจัยล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า เกี่ยวกับภูมิต้านทานร่างกายหลังจากได้รับเชื้อไวรัสโควิดไป โดยวิจัยในคนไทย 63 คน ในจำนวนนี้ 60 คนมีภูมิต้านทานโรค เนื่องจากเคยได้รับเชื้อแล้ว แต่เมื่อติดตามไป พบว่า...

ภูมิต้านทานลด 17% ภายใน 2 เดือน นั่นเท่ากับว่า การติดเชื้อไม่ส่งผลดีให้ร่างกายของคนนั้นมีภูมิต้านทานไปได้นานอย่างที่เข้าใจกัน หรืออาจไม่ติดเชื้อซ้ำ ก็คือเรื่องที่ไม่แน่นอนอีกต่อไป และภูมิต้านทานจะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันต่อไป 

เมื่อเรากำจัดมันไม่ได้ แต่เราสามารถหยุดความแรงของมันได้ โดยคุณหมอคำนวณ มือหนึ่งในการคุมการระบาดของไทยระบุ 3 ปัจจัยที่ทำให้เชื้อไม่รุนแรงกว่าการระบาดระลอกแรก คือ

1 ตัวเชื้อ สมมติฐานในขณะนี้ อาจไม่รุนแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่มีปัจจัยที่ชี้ขาดได้ขนาดนั้น

2 คนเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถ้าเรามีวินัย สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ จุดนี้เป็นการตัดวงจรการแพร่เชื้อ

3 ระบบสังคม คือ Whole Society Response ความสำเร็จของไทยที่ทั่วโลกยกย่อง เพราะความร่วมมือของภาคประชาชนไทยที่เห็นความสำคัญ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และศาสนา ทุกคนต่างร่วมมือกันไปทิศทางเดียวกัน จึงประสบความสำเร็จในการหยุดการระบาดเชื้อ

เพราะต่อให้ปัจจัยด้านตัวเชื้อ แรงขนาดไหน แต่ถ้าปัจจัยพฤติกรรมของคนและระบบสังคมที่เข้มแข็งช่วยกัน เชื้อก็ไม่สามารถรุนแรงได้ และการระบาดในระลอกไหนก็ไม่รุนแรงแน่นอน ผ่อนปรนมาตรการต่างๆเศรษฐกิจและสังคม แต่ต้องห้ามผ่อนปรนมาตรการทางสาธารณสุข ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เว้นระยะห่างในพื้นที่แออัด และล้างมือบ่อยๆ”  เพราะ 3 มาตรการนี้พิสูจน์ว่า เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโควิด

อยู่กับโควิดอย่างน้อย 1 ปี – 1 ปีครึ่ง ได้อย่างไร  

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม ฉายภาพให้เห็นอนาคต จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ที่มีการคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงเดือน ก.ค. 2563 หลังจากเปิดกิจการทุกอย่างแล้ว แบ่งเป็น 3 สถานการณ์ดังนี้

1 สถานการณ์ควบคุมได้เต็มที่ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศ พบผู้ป่วยประปราย 15-30 รายต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย, พบผู้ป่วยรายใหม่จากการค้นหาเพิ่มเติม และค้นหาเชิงรุกในชุมชน

2 สถานการณ์ควบคุมได้ดีมีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด ระบบสาธารณสุขรองรับได้ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศพบผู้ป่วย 50-150 รายต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และคนเดินทางเข้าประเทศ

3 สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการระบาดซ้ำคล้ายช่วงเหตุการณ์ระบาดจากสนามมวย สถานบันเทิง(มีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยไม่มีการกักกันติดตาม อาจพบผู้ป่วย 500-2,000 รายต่อวัน ระบบสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย

ทำไมสถานการณ์ที่ 3 ระบบสาธารณสุขของไทยรับมือไม่ไหว แล้วระบบสาธารณสุขของไทยรับมือได้ที่เท่าไหร่กันแน่

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม อธิบายว่า ศักยภาพในการรองรับผู้ติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุขได้

ประมาณ 500 คนต่อวัน แต่ถ้าอย่างสถานการณ์ที่ 1-2 ถือว่า ยังรับไหว  

“ถ้าไม่เกิน 500 คนต่อวัน ยิ่งน้อยกว่านั้นมากๆหลายๆเท่าตัวไว้ยิ่งดี บุคลากรเรายังรับไหว เศรษฐกิจก็ไปต่อได้ คนไม่อดตาย หากจะล็อคดาวน์อีก ก็ต้องทำเพื่อให้สมดุลระหว่างด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ไม่ใช่ป้องกันไม่ให้มีคนตาย แต่เศรษฐกิจเจ๊ง ไม่มีคนตายจากโรค แต่ก็มีคนตายจากพิษเศรษฐกิจอยู่ดี  ความสำเร็จที่ผ่านมาของพวกเรา คือ เราช่วยกัน ทั้งใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ

จำนวน 500 คนมาจากไหน นพ.สมศักดิ์ ในฐานะอธิบดีกรมการแพทย์ มีข้อมูลความพร้อมด้านโรงพยาบาลและบุคลากร อธิบายว่า เตียงในระบบสาธารณสุขไทย  22,052 เตียง สังกัดสธ. 18,405 เตียง นอกสังกัดสธ. 3,647 เตียง ในจำนวนนี้มีห้องไอซียู 550 เตียง  ในจำนวนนี้สังกัดสธ. 402 เตียง และสังกัดอื่นๆรวมถึงเอกชน 148 เตียง  พร้อมกันนี้ ทางกระทรวงก็ได้สำรองยา และอุปกรณ์ต่างๆไว้แล้ว

 

ในเมื่อสาธารณสุขต้องรักษาสมดุลให้กับเศรษฐกิจ การเปิดประเทศให้มีการเดินทางเข้ามายังต้องเกิดขึ้นสักวัน เราต้องรับมืออย่างไร ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม เปิดเผยข้อมูลว่า คนที่เดินทางเข้ามาในประเทศเรา ทางอากาศไม่น่ากังวล เพราะมีการตรวจคัดกรองอย่างดี แต่ทางบกที่มีการประชุมล่าสุด พบว่า มีแรงงานพม่าที่มีการขึ้นทะเบียนและรอกลับเข้าไทยกว่า 60,000 คนจะรอเข้าไทย และมีอีก 40,000 คนที่ยื่นความต้องการ เพื่อเข้าประเทศไทยทำงาน รวมๆแล้วประมาณ 1 แสนคน ยังไม่นับแรงงานเถื่อนที่นั่งรถตู้หนีเข้าพรมแดนไทย ดังนั้นเราต้องตะครุบเคสที่พบว่าติดเชื้อและตามบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุด 

เช่นเดียวกับข้อมูลที่ นพ.คำนวณ เปิดเผยในเวทีเสวนานี้ในช่วงต่อมาเช่นกันว่า มีข่าวการจับกุมแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศมาทางบกวันละ 100 คน แต่ตัวเลขจริงอาจมีผู้เข้ามาแล้ว 10 – 20 เท่าด้วยซ้ำ จุดนี้ควรจัดการให้มีการเข้าประเทศอย่างถูกต้อง เพื่อสามารถติดตามแรงงานเหล่านี้ในกรณีสอบสอบโรค ขณะที่ทางน้ำ แรงงานประมงก็ออกไปหาปลาไกลมากขึ้น เป็นจุดที่ควรให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่เพียงการเดินทางอากาศเท่านั้น ดังนั้นพื้นที่จังหวัดใหญ่ ชายแดน 15 จังหวัด จึงเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวัง และซักซ้อมฃ

อย่างเคสจังหวัดระยอง คุณหมอคำนวณบอกถึงประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อระดับพื้นที่ที่มีการกระจายอำนาจไป สามารถมีคำสั่งออกมาตรการใดๆก็ได้ทันที แต่บางครั้งอาจขาดข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ทำให้ออกมาตรการโดยไม่จำเป็น แทนที่จะกักตัวแค่บุคคลที่ใกล้ชิด เกี่ยวข้อง 20-30คน แต่กลายเป็นหลักร้อย หรือมีเพียง 36 คนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด แต่โดนไป 360  คน ควรปิดเฉพาะที่แค่เฉพาะที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ปิดทั้งหมด มุ่งเป้าดีกว่าหว่านทั้งหมด 

ดังนั้นการออกมาตรการใดๆควรปรึกษาฝ่ายวิชาการ ยิ่งทำเป็นลายลักษณอักษรมาเพื่อให้ดูเป็นแง่มุมผลกระทบฝ่ายที่จะเกี่ยวข้องด้วยจะยิ่งเป็นการดี เพรามิฉะนั้น จะส่งผลกระทบวงกว้างเช่นนี้

เช่นเดียวกับนพ.สมศักดิ์ ที่เห็นว่า เคสของจังหวัดระยอง ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เราได้มีบทเรียน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เอง ก็สรุปบทเรียนมาเป็นมาตรฐานให้แต่ละจังหวัดได้เรียนรู้ แต่ละจังหวัดเองก็ต้องซักซ้อมจริงว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้น จะร่วมมือกันอย่างไร ภาครัฐ ภาคสาธารณสุข ภาคธุรกิจจะประสานกันอย่างไร จะมีมาตรการเฉพาะจุดที่ใด วางแผนอย่างไรต่อไปมีกระบวนการอย่างไร

ในเมื่อเราฝืนธรรมชาติไม่ได้ในการระบาดระลอกต่อๆมา แต่เราสามารถอยู่ร่วมกับมันอย่างรู้ทัน และเข้าใจ และรับมือได้อย่างดี ผ่อนปรนมาตรการทางสังคมตามที่จำเป็นทั้งภาคเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปด้วย แต่ต้องไม่หย่อนมาตรการสาธารณสุข เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือ New Normal ที่จะทำให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและเป็นคนมีประสบการณ์

-----