ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แม้ผู้ติดเชื้อโควิดในไทยอาจมีไม่กี่พันคน แต่ผู้ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดมากมายมหาศาลหลักล้านคน แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ อยู่ที่ใครจะมีสติตั้งหลักได้เร็วกว่าคนอื่นในช่วงที่ฝุ่นยังตลบอยู่ ก็มีโอกาสเดินหน้าไปก่อน

สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน นอกจากความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจนเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกแล้ว ในมาตรการ สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ ร่วมใจป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดได้เป็นอย่างดีแล้ว ในหลากภาคส่วนยังมีเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

โอกาสที่ก้าวต่อ ที่มีการเปิดเผยในงานเวทีเสวนาที่สำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) จัดเวที “ Visual Policy Forum :  เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ Covid-19” เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีปาฐกถาพิเศษจาก .คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตรมช.ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ ผลกระทบของ Covid-19 เมื่อสุขภาพกำหนดวาระทางสังคม  

พร้อมทั้ง 3 กุนซือระดับประเทศฝ่ายวิชาการในการคุมระบาดของโควิดในครั้งนี้ ทั้ง.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล , นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค สธ. และนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ สธ. เสวนาต่อในหัวข้อ แนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมรับมือการระบาดรอบที่ 2 ของ Covid-19” 

และในภารบ่าย ระดมสมองในหัวข้อ “วัคซีน - ยา : ความหวัง - โอกาส - วิกฤต" มี นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม , รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม , นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa) และ นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

โควิดไม่ใช่แค่วิกฤต แต่คือโอกาส

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม โฟกัสให้ชัดถึงโอกาสของไทยในขณะนี้ว่า โควิดครั้งนี้ทำให้เราต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและปรับตัวทางสังคม เพื่อเป็น NEW ABNORMAL เมื่อเชื้อโรคและสุขภาพกลายเป็นตัวกำหนดวาระทางสังคม ทั้งชีวิตและการทำงานของเราไปแล้ว 

ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาที่ออนไลน์มาเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 50% แต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยเน้นเรื่องความปลอดภัย ไม่ติดโรคของนักเรียนและผู้สอน รวมถึงความเสมอภาคในการได้เรียน ภาคธุรกิจที่ปรับตัวอย่างธุรกิจอาหารที่เน้นการส่งบริการถึงที่ หรือแม้แต่การทำงานที่หลายฝ่ายยอมรับเรื่องการทำงานที่บ้านกันมากขึ้น

สิ่งที่สำคัญที่เห็นความแตกต่างที่ คุณหมออุดม บอกคือ เรื่อง การดูแลสุขภาพ

Digital Healthcare ไม่ต้องการให้คนมารวมตัวกันที่โรงพยาบาล แต่ผ่านTelemedicine  การแพทย์ผ่านทางไกล ที่เชื่อมต่อข้อมูลผ่านแอพใส่ในมือถืออย่างเช่น นาฬิกาตรวจจับการเต้นหัวใจ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเติบโตปี 2014 โต 9% ปี2018 ตลาดขยายถึง 33% และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 

อย่าง WeDoctor ของเทนเซน์ในจีน มีพันธมิตรเป็นหมอในประเทศจีนกว่า 240,000 คน ถ้าอยากพบหมอเหล่านี้สามารถไปจองคิวได้ และภายใน 1 อาทิตย์สามารถได้พบกับหมอดังท่านนั้นๆ และยังประสานรับยากับร้านยาในเครือขาย 15,000 ร้าน และหากจำเป็นต้องไปรักษาในโรงพยาบาลก็มีรพ.ในเครือขาย 27,000 แห่ง ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการแอปนี้กว่า 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

หรือที่คล้ายกันคือ ผิงอัน Ping An Good Doctor ข้อมูลปี 2018 มีคนลงทะเบียนใช้ในจีนกว่า 265 ล้านคน โดยผิงอันมีให้บริการตู้วินิจฉัยโรคโดยมี Ai วินิจฉัยโรค กระจายติดตั้ง 1,000กว่าตู้ใน 4 มณฑล เชื่อมกับโรงพยาบาล 3,000 แห่ง กับอีกร้านขายยา  15,000 แห่งด้วย 

โดยเมื่อมีการทดสอบกับการวินิจฉัยกับแพทย์จริงๆก่อนนำมาให้บริการ พบว่า Ai มีความแม่นยำในการวินิจฉัยนโรคสูงมาก เมื่อผู้ป่วยเข้าไปตรวจที่ตู้นี้แล้วจำเป็นต้องทานยา ตู้นี้มีบริการยากว่า 100 ชนิด แต่ถ้ายานอกจากนี้ก็ไปรับร้านขายยา หรือถ้าอาการหนักก็โรงพยาบาลที่ประสานข้อมูลไปทันที ซึ่งปลายปีนี้จะมีการเจาะเลือดและทราบผลภายใน 2 ชั่วโมงด้วย 

ทั้งหมดเพื่อไม่ให้คนมาที่โรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ พร้อมกับลดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้ผู้ป่วยจากโรคเรื้อรัง NCD โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ  กลุ่มที่มีความเสี่ยงกลางๆ อาจใช้ Teleconsult เหลือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลแค่ 30%  ทำให้คนไข้ไม่ต้องมารวมตัวอยู่ในโรงพยาบาล 50-60% ซึ่งเป็นผลดีกับการรักษาระยะห่างในโรงพยาบาลจะได้ไม่แออัด อีกทั้งบุคลากรสาธารณสุขจะได้ไม่เหนื่อย และดูแลคนไข้ได้เต็มที่มากขึ้น 

P4  Medicine Predictive การคาดการณ์ล่วงหน้าของแพทย์ว่าใครป่วยเป็นโรคอะไร , Preventive แนวทางปฏิบัติในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ , Personalized  การดูแลเฉพาะบุคคล เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ตามแต่ละบุคคล และ Participatory การสร้างความมีส่วนร่วมในการป้องกกันโรค ให้คนป่วยมีส่วนช่วยในการตัดสินใจรักษาและป้องกันโรค 

ทางด้านสาธารณสุขไทยก็มีปรับตัวแล้ว โดยอธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ในการระบาดระลอกแรกประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ปรับให้โรงแรมเป็นโรงพยาบาลหรือ Hospitel ที่สำรองเตียงไอซียูให้ผู้ป่วยกว่า 600 เตียง ส่วนการระบาดรอบใหม่นี้ เตรียมแผนในการทำTelemedicine การเตรียมให้เคมีบำบัดที่บ้าน รวมถึงจัดทำแนวทางปฏิบัติในการทำงานอย่าง เทคนิคการแพทย์อย่างเทคนิคการทำฟันแบบให้มีละอองฝอยน้อย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโควิดลงอีก หรือแม้กระทั่งที่ก่อนหน้านี้ที่มีแต่สำหรับการระบาดในระลอกแรก ซึ่งในอนาคตด้วยเช่นกัน 

เราต้องนำประสบการณ์ต่างๆมาสังเคราะห์ให้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะบทเรียนทางเศรษฐกิจด้วย ที่สำคัญเราต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่พึ่งพาคนอื่น ใช้โอกาสนี้ ยอมเดินหน้าทั้งที่รู้ว่าจะเจออะไร แต่เราต้องรู้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและรับมือกับมันอย่างคนมีประสบการณ์ ดีกว่าหยุดอยู่กับที่ข้อสรุปความคิดของ นพ.คำนวณ กับโควิดที่ทำเกิดโอกาส

โดยโอกาสอะไรที่ไทยจะใช้จุดนี้ได้อีก .ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เห็นช่องทางว่า โควิดอาจทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เหมือนที่เราร่วมมือกันหลายสิ่งในประเทศ ได้เองในช่วงวิกฤตนี้ ถือเป็นโอกาสให้ นักธุรกิจไทย วิศวกร ใช้โอกาสนี้มาร่วมมือหารือกัน ซึ่งทางการแพทย์ก็พร้อมสนับสนุนในการนำไปใช้ทดสอบตามมาตรฐานะวิชาชีพ พัฒนาให้สิ่งที่เราพึ่งพาตัวเองให้ได้มาตรฐานนานาชาติต่อไป

ส่วนของเวชภัณฑ์ หน่วยงานที่รับผิดชอบความมั่นคงยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ อย่างองค์การเภสัชกรรม นพ.โสภณ เมฆธน ได้แจ้งถึงโอกาสอันดีที่โควิดมาทำให้ภาครัฐให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบประมาณและเห็นความสำคัญ ไม่ว่าจะเรื่องยา Favipiravir , การร่วมผลิตวัคซีน และการผลิต จัดหา เพื่อสำรองชุดป้องกัน PPE , หน้ากาก N95 และ Surgical Mask ทั้งหมด ก็เหมือนกระสุน ที่ต้องจัดหาสำรองไว้ เพราะถ้าเกิดช่วงระบาด กระบวนการผลิตอาจขาดตลาด ถึงตอนนั้นมีเงินก็ไม่สามารถหาซื้อได้ 

“อภ.ได้สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ไว้กว่า 596, 680 เม็ด เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดกว่า 8,400 คน ในขณะเดียวกันได้วิจัยและพัฒนาการผลิตยาชนิดดังกล่าวด้วยตัวเอง ในขนาด 200 มิลลิกรัม โดยเริ่มพัฒนาสูตรยาตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา คาดว่ามกราคม-เมษายน ปี 2564 จะขยายไปผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรม และพร้อมขึ้นทะเบียนยาได้ในช่วงตุลาคม 2564 นอกจากนี้การสังเคราะห์วัตถุดิบตั้งต้นของยา ฟาวิพิราเวียร์ ก็ร่วมกับไบโอเทคแล้วในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะต้นปีหน้าจะเริ่มขยายการผลิตอยู่ระดับการทดลองเบื้องต้นแล้ว

ในส่วนของการมีส่วนร่วมในการทดลองวัคซีนโควิดต่างๆ ในส่วนของงานวิจัยวัคซีนจากเชื้อตาย อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท ซิโนแวกซ์ของจีน ขณะที่อีกงานวิจัยวัคซีน COVID-19 ชนิดเชื้อตาย ที่ใช้ New Castle Disease Virus เป็น Viral Vector ก็อยู่ระหว่างเจรจา โดยมีพาร์ทเนอร์ในระดับนานาชาติ โดยได้ขอทุนไปประมาณพันล้านบาท ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวอยู่ในขั้นทดลองในหนู ซึ่งปลายสิงหาคมจะทราบผลความคืบหน้าดังกล่าว

อีกความภาคภูมิใจ ที่ก่อเกิดในวิกฤต สะท้อนถึงความร่วมแรงร่วมใจกันของคนไทยในชาติที่ นพ.โสภณได้ ถ่ายทอดประสบการณ์ของการผลิตชุด PPE ทดแทนการนำเข้าจากเวียดนามที่ไม่จำหน่าย ต้องส่งกลับสหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าของ ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน สภาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หารือและร่วมออกแบบชุด PPE จนสำเร็จ และขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า 25 รายไปขอขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว โดยโรงงานที่ผลิตส่วนใหญ่ผันตัวมาจากโรงงานที่มีเทคโนโลยีในการผลิตชุดสกีภายในประเทศไทย 

เส้นใยทั้งหลายผลิตจากขวดน้ำรีไซเคิล 14 ขวด ปกติ 1 ชุด 500 บาท แต่เราสามารถผลิตได้เองในราคาชุดละ 100 บาทเท่านั้น กำลังการผลิตต่อเดือนสามารถผลิตได้เป็นล้านตัว ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศติดต่อสนใจสั่งซื้อ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย ฟินแลนด์ โอกาสนี้จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐน่าจะสนับสนุนต่อไปอย่างไร เพราะคนไทยมีศักยภาพอย่างมากแต่ต้องปิดช่องว่างในหลายๆส่วนจากภาครัฐ

 ทางด้านสภาหอการค้าไทย คุณกลินท์ เห็นว่า โควิดระบาดเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เพราะมาหารือกันว่า ต้องเตรียมการด้วยอะไร พบว่า เครื่องช่วยหายใจทั่วประเทศอยู่จุดใดบ้าง ใช้ไม่ได้ 300 เครื่อง โดยราคาประมาณ 1 ล้านบาทต่อเครื่อง  SCG คูโบต้า และโตโยต้า ได้สร้างห้องสำหรับซ่อมเครื่องช่วยหายใจฟรี และแจกจ่ายกลับคืนสู่โรงพยาบาล

รวมถึงหลายๆฝ่ายก็ร่วมกันถ้าเปิดเมืองแล้ว ควรสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Wellness Tourism โดยกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวไปพร้อมสุขภาพที่ดีด้วย อีกทั้ง Wellness Tourism ไปได้ทุกจังหวัด ทำให้เกิดการสร้างงานกระจายรายได้และเกิดความยั่งยืน

ในแนวคิดกินดี กินอาหารท้องถิ่นปลอดสารพิษ , อยู่ดี ที่พักที่ดีไม่ว่าจะโฮมสเตย์หรือโรงแรม มีการบริการที่ดี อัธยาศัยดี สิ่งแวดล้อมที่ดี , ออกกำลังกายดี มีกิจกรรมต่างๆในท้องถิ่นที่ดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน ปลูกป่า ทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  

 โควิดอาจเป็นตัวเร่งเปลี่ยนแปลงของประเทศ ซึ่งจากเดิมอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกนาน แต่กลับผลักดันให้เกิดเร็วขึ้นในปัจจุบันนี้ทันที  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งใหม่นี้ แน่นอนว่า เป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม เพราะมาพร้อมกับเป็นช่องทางและโอกาสให้ประเทศได้พัฒนาในเวลาอันรวดเร็ว