ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. จับมือ ศูนย์สื่อสารเด็กไทยฯ สานฝัน 180 ครีเอเตอร์หน้าใหม่ รวม 36 โครงการ กระจาย 10 จังหวัดภาคใต้ ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่เพื่อสังคมปลอดบุหรี่สู้โควิด-19

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ชีวิตวิถีใหม่ เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่มีบทบาทอย่างมากบนสื่อออนไลน์ ทั้งการเป็นผู้นำ ต้นแบบในเรื่องต่าง ๆ ถือเป็นความโชคดีที่เห็นคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสื่อสารผ่านการรณรงค์ในกิจกรรม “นักสื่อสารดิจิทัลสร้างสรรค์สื่อปลอดบุหรี่ Digitor Thailand” เพื่อสร้างสังคมปลอดบุหรี่ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ด้วยสื่อดิจิทัล ที่ผ่านมา หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการรุนแรงมากขึ้นคือ การสูบบุหรี่ กิจกรรมนี้จึงสำคัญที่จะช่วยปลูกฝังเยาวชนและเป็นฐานให้ความรู้โทษของบุหรี่ สร้างต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจในการเลิกบุหรี่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ร่วมกันเฝ้าระวังและให้กลุ่มเยาวชนเหล่านี้พัฒนาไปสู่การเป็นแกนนำเยาวชนในระดับชุมชนและท้องถิ่น

นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สน.6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิม องค์กรสาธารณประโยชน์ เลขที่ 4314 หน่วยจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสารสุขภาวะ พื้นที่ภาคใต้ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีปฐมนิเทศ “นักสื่อสารดิจิทัลสร้างสรรค์สื่อปลอดบุหรี่ Digitor Thailand” เพื่อร่วมสานฝันครีเอเตอร์หน้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ สู่ความร่วมมือสร้างสังคมปลอดบุหรี่ เป็นการเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์สื่อออนไลน์หน้าใหม่ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสื่อสารสร้างสังคมปลอดบุหรี่ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Podcast Vlog แอนิเมชั่น มิวสิควิดีโอ ไวรัลคลิป E-Learning และเกม ให้คนไทยเกิดการตระหนักรู้และมีทัศนคติเชิงบวกทางสุขภาวะมากขึ้น

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิด สามารถการป้องกันการเกิดโรคที่มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ การลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการทรุดหนักรวมถึงเสียชีวิต เป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีความเสี่ยงสูงเกิดปอดอักเสบรุนแรง หรือที่เรียกว่า EVALI การลดปัจจัยเสี่ยงโดยการไม่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเป็นการส่งเสริมสุขภาพในระบบทางเดินหายใจเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ ดังนั้น การสร้างการสื่อสารให้ผู้ที่สูบบุหรี่พยายามเลิกบุหรี่ให้ได้จึงจำเป็น

นายฮาริส มาศชาย ผู้จัดการโครงการนักสื่อสารดิจิทัลสื่อสร้างสังคมปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ขอบคุณ สสส. มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) อุทยานเรียนรู้ ยะลา TK Park มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.สงขลา โรงพยาบาลธารโต จ.ยะลา กลุ่มผู้ผลิตอิสระ ภาพยนตร์สั้น (นายูราม่า) และศูนย์สื่อสารเด็กไทยฯ ที่ร่วมขับเคลื่อนการสร้างนักสื่อสารดิจิทัลสื่อสร้างสังคมปลอดบุหรี่ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 จากการเข้าร่วมสมัคร 42 โครงการ จำนวน 210 คน ผ่านการคัดเลือก 36 โครงการ จำนวน 180 คน กระจายในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสร้างสรรค์สังคมออนไลน์หน้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ สามารถติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก DigitorThailand และไลน์ @DigitorThailand