ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 อภ.ร่วมรัฐ-เอกชนประสบสำเร็จอีกครั้ง! ผลิตชุด PPE ฝีมือคนไทยระดับ 3 ป้องกัน "เชื้อ -เลือด" พัฒนาจากขวด PET พลาสติกรีไซเคิลครั้งแรกของไทย  ซักซ้ำได้ถึง 50 ครั้ง ตกชุดละ 700 บาท    พร้อมมอบ 500 ชุดกระจายบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ชุด PPE ที่ก่อนหน้านี้พัฒนาสำเร็จเป็นระดับ 2 ซักซ้ำ 20 ครั้งเป็นครั้งแรกของโลก ต่างประเทศรุมสนใจซื้อ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 ส.ค. 2563 ที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.) แถลงข่าวเปิดตัว “PPE Innovation Platform นวัตกรรมการชุด PPE ฝีมือคนไทยมาตรฐานสากล” โดยเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์กรมหาชน) บรษัทสถานี รีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ จำกัด บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด(มหาชน) บริษัทไทยแทฟฟิต้า จำกัด สหพันธุ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี รพ.พระมงกุฎเกล้า สถาบันบำราศนราดูร และรพ.นครปฐม ฯลฯ โดยความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ร่วมกับ บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ซึ่ง อภ. ยังรับมอบชุด PPE จำนวน 500 ชุด เพื่อกระจายส่งให้บุคลากรทางการแพทย์

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) แถลงว่า ที่ผ่านมา อภ. ได้มีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ให้มีใช้อย่างเพียงพอ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จในการจัดทำนวัตกรรม ชุด PPE รุ่นเราสู้ แบบเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown ) มีมาตรฐานความปลอดภัยใช้งานทางการแพทย์ Level หรือระดับ 2 ซึ่งสามารถซัก และใช้ซ้ำได้มากกว่า 20 ครั้ง จนสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ชุด PPE และล่าสุดสามารถพัฒนาขึ้นจนสามารถป้องกันเชื้อได้ถึงระดับ 3 โดยสามารถซักซ้ำได้ถึง 50 ครั้ง และมีศักยภาพป้องกันเชื้อและเลือดได้มากขึ้น

“ที่สำคัญยังเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยสามารถผลิตชุด PPE รีไซเคิล ระดับ 3 โดยใช้เส้นด้ายที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิล 100% เป็นครั้งแรกได้สำเร็จ จากเดิมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งประชาชนและองค์กรจำนวนมากให้ความสนใจและร่วมมือรวบรวมขวด PET ที่ใช้งานแล้ว เป็นการส่งเสริมให้เกิดระบบการคัดแยกขยะพลาสติก การรีไซเคิล และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” นพ.โสภณกล่าว

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา มีความต้องการใช้ชุด PPE สูงมาก คาดการณ์ว่าอาจต้องใช้ถึง 35,000 ชุดต่อวัน อภ.จึงร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ร่วมกันสร้างนวัตกรรมและผลิตชุด PPE Level 2 รุ่นเราสู้ ขึ้นใช้ได้เองภายในประเทศ จนสำเร็จ ถึงแม้ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ชุด PPE ยังมีความจำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ปกติ และหากมีสถานการณ์วิกฤตหรือมีความจำเป็นขึ้นมา กลไก PPE Innovation Platform จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตชุดPPE ได้อย่างทันท่วงที

น.ส. นิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า การพัฒนาและผลิตชุดดังกล่าว ได้ผ่านมาตรฐานของการผลิตชุด PPE ห้องปฏิบัติการที่ใช้ทดสอบชุด ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล และล่าสุดขณะนี้ได้มีการกำหนดมาตรฐานของประเทศไทยเอง โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) โดยได้ยกร่างมาตรฐานการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมอก. และชุด PPE ที่ได้ตามมาตรฐานสากล ทำให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ ชุดดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับทันตแพทย์ได้

นายสุพจน์ ชัยวิไล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำ กล่าวว่า  ที่ผ่านมาเราพัฒนาและผลิตชุด PPE ระดับ 2 ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลก เพราะทั่วโลกยังไม่มีการนำมาใช้ซ้ำ แต่ด้วยนวัตกรรมการทอที่ทันสมัยของบริษัท ทำให้สามารถผลิตผ้าด้วยเส้นด้ายที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิล 100% สำหรับตัดเย็บชุด PPE ระดับ 3 ได้สำเร็จเป็นรายแรกของไทย    ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าที่สามารถป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ชุด PPE จำนวน 1 ชุด ผลิตจากเส้นใยที่นำขวด PET ขนาด 600 มิลลิลิตร ประมาณ 18 ขวด ตัดเย็บเป็น 2 ชั้น เพื่อการป้องกันที่ดีกว่า แต่ยังคงคุณสมบัติสวมใส่สบาย เคลือบสารพิเศษที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ และป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน (Hydrostatic Pressure) สามารถนำไปซักทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่มากถึง 50 ครั้ง ผ่านมาตรฐานป้องกันการซึมผ่านของเลือดและไวรัส โรงงานที่ทำการตัดเย็บชุดPPE เป็นโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  

“ราคาต้นทุนของชุดระดับ 3 อยู่ที่ 700 บาท แต่ราคาขายในท้องตลาดอยู่ที่ 1,200-3,800 บาทต่อชุด ส่วนลูกค้าที่สั่งมานั้นก็ต้องอยู่ที่ราคาขายที่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับ 700 บาท ซักได้ 50 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 12 บาท และยังนำมาใช้เป็นระดับ 2 ได้อีก 20 ครั้ง สำหรับต้นทุนการซักอยู่ที่ 3 บาท ทั้งหมด คือ มีความคุ้มค่า คุ้มทุน” นายสุพจน์ กล่าว และว่า สำหรับการสั่งซื้อกรณีชุดระดับ 3 ขณะนี้มีเกือบทุกประเทศในยุโรป และทวีปอเมริกาสนใจ ส่วนชุดระดับ 2 มีออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และจีน โดยเฉพาะฟินแลนด์ รุ้สึกแปลกใจกับการผลิตชุดดังกล่าว ดังนั้น ชุด PPE ระดับ 2 รุ่นเราสู้ของไทย จึงเป็นตัวเลือกแรกที่ต่างประเทศจะสั่งซื้อ เพราะซักซ้ำได้ ซึ่งหมอที่สั่งต่างก็พึงพอใจ และต่างบอกว่าจะไม่กลับไปใช้ชุดครั้งเดียวทิ้งอีก

ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสถานี รึไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทมีการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีแบบระบบครบวงจรเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 40 ปี เก็บรวบรวมขยะที่มีอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แต่ละวันมีขวด PET ที่คัดแยกแล้วเข้ามาสู่ระบบการซื้อของเก่าประมาณ 500 ตัน/วัน หลังจากนั้นจะมีบริษัทรีไซเคิลนำไปแปรรูปต่อ ขวด PETที่ หมุนเวียนอยู่นี้เป็นเสมือนการสำรองวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตชุดPPE ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งถ้าหากประชาชนมีการคัดแยกขวด PET และส่งต่อให้ทางบริษัทเพิ่มขึ้นก็จะเสมือนเป็นการเพิ่มการสำรองให้มีเพิ่มมากขึ้น นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการนำขวด PET ที่ใช้งานแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานระดับโลก นำไปพัฒนาเส้นด้ายคุณภาพสูง สำหรับผลิตชุด PPE Level 3 ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการอยู่ ทำให้เกิดประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมโดยรวม

นายจำนงค์ นวสมิตวงศ์ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทย มีผู้ประกอบการด้านสิ่งทอและตัดเย็บอยู่เป็นจำนวนมาก มีศักยภาพในการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจากผู้ประกอบการด้านสิ่งทอและตัดเย็บส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตให้กับสินค้าแบรนด์ระดับโลกอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมในการดำเนินการดังกล่าว สมาพันธ์และบริษัทผู้ตัดเย็บจากเริ่มต้นที่มีอยู่ 13 บริษัท ได้ขยายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีความยินดี ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจ ครั้งนี้ ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง PPE Innovation Platform ด้วยการพัฒนา model การแยกขยะในโรงพยาบาลและชุมชน ซึ่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐมมีขยะที่เป็นขวด PET อยู่เป็นจำนวนมาก และนำส่งบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเส้นด้ายสำหรับผลิตชุด PPE ต่อไป

นพ.สยาม ค้าเจริญ แพทย์จากรพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ภาพสะเทือนใจขวัญกำลังใจของคนทำงาน คือการเห็นภาพคนติดเชื้อ เสียชีวิต จำนวนมากโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการรักษาผู้ป่วย เพราะขาดแคลนชุด อุปกรณ์ป้องกันตัว อย่างชุด PPE ที่มีราคาพุ่งสูงจากเดิม 8-10 เท่า ความต้องการใช้มาก แต่เงินไหลออกนอกประเทศ ปัญหาคือต่อให้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ ดังนั้นตวามสำเร็จของประเทศไทยนี้ จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ มีความหวัง 

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยศูนย์ความเป็นเลิศด้วนชีววิทยาศาสตร์ (องค์กรมหาชน) ตัวแทนหน่วยงานย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี กล่าวว่า ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการแพทย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีหน่วยงานด้านการสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีการดำเนินงานครอบคลุมทุกด้านครบวงจรตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ผลิต และผู้ใช้ รวมอยู่ในกลุ่มพื้นที่เดียวกัน หลายหน่วยงาน โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นอกจากศักยภาพในการให้บริการและการวิจัยด้านการแพทย์แล้วนั้น ย่านฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญการในพัฒนาพื้นที่และสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้มีความน่าอยู่ การนำวัสดุ ของใช้ที่ไม่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์แล้ว รีไซเคิลกลับมาให้มีศักยภาพใหม่ในรูปแบบ PPE Innovation Platform ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนางานนวัตกรรมรูปแบบใหม่ โดยมีประชาชนและชุมชนในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาด้วย โดยเราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นหน่วยสำหรับคัดแยกและรับขวด PET สำหรับนำไปรีไซเคิล เพื่อผลิตนวัตกรรมชุด PPE

เรื่องที่เกี่ยวข้อง