ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมออุ้มผาง มองนโยบายยกระดับบัตรทองรักษาได้ทุกแห่งเป็นเรื่องดี หากจัดระบบดีและเป็นไปตามความจำเป็นของคนไข้ แต่ต้องระวังกระทบรพ.ใหญ่ ด้านภาคประชาชน เสนอทำระบบส่งต่อใกล้บ้านใกล้ใจเหมาะสมกว่า

ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เตรียมระดมความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เพจ สปสช. ในวันทที่ 21 ส.ค. และจะเปิดให้แสดงความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนกรณีนโยบาย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประกาศยกระดับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองให้สามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย และแก้ปัญหาคนไข้อนาถาด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก แพทย์ชนบทดีเด่น กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า การเปิดให้แสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องดี เนื่องจากจะมีทั้งข้อดี ข้อด้อย ซึ่งเมื่อมีการถกเถียงก็จะได้มีการหาคำตอบ หาทางออกในการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า หากเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องจัดระบบดีๆ เนื่องจากอาจมีเรื่องการที่ประชาชนบางกลุ่มอาจยึดภาพองค์กร หรือ รพ.ใหญ่ๆ และอยากไปรักษาที่รพ.ใหญ่ จนทำให้เกิดความแออัดได้

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์

“สิ่งสำคัญส่วนตัวมองว่าควรเน้นเรื่องความจำเป็นในการรักษาพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาเรามีเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน แต่หากเพิ่มในเรื่องเดิมเคยรับยาประจำรพ.ใกล้บ้าน แต่มีความจำเป็นต้องย้ายบ้านไปอยู่กับลูก ต้องรับยาที่ใหม่ ก็เป็นเรื่องความจำเป็นที่ต้องอำนวยความสะดวกให้ แต่ต้องไม่เอาใจมากจนเกินไป เพราะหากทำแบบนั้น คนก็จะไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเอง เพราะอย่างไรเสียการดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อป้องกันโรคก็ยังเป็นเรื่องต้องทำควบคู่กันไปด้วย” นพ.วรวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนี้จะสวนทางกับนโยบายที่ผ่านมาพยายามทำคลินิกหมอครอบครัว ที่เน้นบริการถึงบ้าน และส่งเสริมให้คนรักษารพ.ใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ยังไม่อยากให้คิดไปถึงขั้นนั้น แต่กรณีนี้ตนมองว่า หากจะจัดระบบคงมีการเตรียมความพร้อมแล้ว เพราะอย่างไรเสียการส่งเสริมสุขภาพยังต้องทำต่อไป

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ประเด็นการให้ประชาชนเข้ารับการบริการรักษาพยาบาลได้ทุกที่นั้น อาจประสบปัญหาเหมือนกรณีสิทธิข้าราชการที่ทำให้ระบบบริการเกิดความแออัด เพราะประชาชนที่เจ็บป่วย ก็จะเลือกรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น ดังนั้นเรื่องนี้ต้องคิดอย่างละเอียด โดยอยากให้ไปเน้นทำระบบการส่งต่อใกล้บ้านใกล้ใจให้มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะหน่วยบริการใกล้บ้าน จะรู้ว่ามีประชากรในความดูแลกี่คน ทำให้สามารถจัดบริการได้ตรงตามความต้องการ ทั้งนี้ อยากให้ไปพัฒนาเรื่อง ตึก เตียง และเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ตามความต้องการของประชากรในแต่ละพื้นที่มากกว่า โดยเชื่อมโยงผ่านระบบไอที ลักษณะการบริการแบบนี้จะตอบโจทย์และยังช่วยแก้ปัญหาโรงพยาบาลแออัดได้อีกด้วย

“การให้ประชาชนได้รับการรักษาที่ดีและเท่าเทียมเป็นเรื่องที่ควรทำ โดยเน้นการทำระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในระบบบริการใกล้บ้าน เช่น หากผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยก็ให้รับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดเล็กใกล้บ้าน แต่หากมีอาการรุนแรงก็ให้ทำการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้อย่างทันท่วงที ตรงนี้ก็จะทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีเตียงที่เพียงพอที่จะไว้ใช้ดูแลผู้ป่วยในรายที่อาการหนักให้ได้รับการดูแลที่ดีมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หากพัฒนาระบบส่งต่อได้ดี ระบบนี้น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าการให้ไปรักษาได้ทุกที่เพราะอาจเกิดปัญหาคล้ายสิทธิข้าราชการคือเกิดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็จะได้รู้ว่าควรส่งงบประมาณไปพัฒนาและอุดหนุนโรงพยาบาลขนาดเล็กตรงจุดไหนบ้าง” นายนิมิตร์ กล่าว