ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค ร่วมรามาฯ แถลงตรวจเจอสารพันธุกรรมเชื้อ "โควิด-19"   ทั้งคู่เคยผ่านกักตัว 14 วันหลังกลับจากยูเออี รายแรกพบเป็นซากเชื้อไวรัส ส่วนอีกรายพบเชื้อปริมาณน้อย ขอตรวจซ้ำ ย้ำโอกาสติดเชื้อในประเทศค่อนข้างน้อย 

 

วันที่ 19 ส.ค. เมื่อเวลา 19.00 น.  นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงข่าวถึงกรณีกระแสข่าวทางโซเชียลมีเดียพบหญิงไทยตรวจสุขภาพแล้วเจอสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งเคยรับการกักตัวในสเตท ควอรันทีน จนครบ 14 วันมาแล้ว ว่า การตรวจพบสารพันธุกรรมมี 2 ราย เป็นเพศหญิงทั้ง 2 คน ซึ่งมารับการตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อขอใบรับรองแพทย์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยรายแรกอายุ 34 ปี พบว่า เคยทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับถึงไทยวันที่ 2 มิ.ย. แต่ไม่มีอาการใดๆ เข้ารับการกักตัว 14 วัน ซึ่งการตรวจหาโควิดครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. พบสารพันธุกรรมปริมาณน้อย สรุปผลของการตรวจครั้งแรกใช้คำว่า ผลกำกวม และครั้งที่ 2 วันที่ 13 มิ.ย. ผลไม่พบเชื้อ

 

"รายแรกนี้เมื่อกักตัวครบ 14 วัน ได้รับอนุญาตให้กลับภูมิลำเนา จ.ชัยภูมิ ทำการพักแยกตัวจนครบ 30 วันตามมาตรฐาน และวันที่ 17 ส.ค. เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ในการเตรียมไปทำงานต่างประเทศที่ รพ.รามาธิบดี ผลออกมาวันที่ 18 ส.ค. พบสารพันธุกรรมในปริมาณน้อย จึงมีการเจาะเลือดตรวจพบมีภูมิคุ้มกันแล้ว โดยสรุปรายนี้ เป็นผู้ติดเชื้อรายเดิม ที่มีการตรวจพบซากเชื้อ ไม่มีความสามารถในการแพร่โรค" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ส่วนรายที่ 2 อายุ 35 ปี กลับจากทำงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เช่นกัน เดินทางถึงไทยวันที่ 24 มิ.ย. เข้ากักตัวตามกำหนด 14 วัน ตรวจเชื้อทั้ง 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ จึงให้กลับภูมิลำเนา จ.เลย และวันที่ 16 ส.ค. เดินทางเข้า กทม. โดยรถยนต์ส่วนตัว เพื่อตรวจสุขภาพเตรียมตัวเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยวันที่ 18 ส.ค. เข้ารับการตรวจและพบสารพันธุกรรม ขณะนี้ รพ.รามาธิบดี ติดตามนำตัวมาไว้ดูแลที่ รพ.แล้ว เนื่องจากเพิ่งรับเข้ามา รพ. จึงต้องตรวจสอบเพิ่มเติมถึงผลการตรวจขณะที่อยู่ในสเตท ควอรันทีน และต้องตรวจสอบด้วยกระบวนการเดียวกับรายแรก ในการตรวจภูมิคุ้มกัน ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และหาข้อสรุปอีกครั้ง ผลเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม สธ.เมื่อรับรายงาน ก็ให้ทีมสอบสวนควบคุมโรค สอบสวนเบื้องต้นให้ได้ประวัติเสี่ยง ผู้อยู่ใกล้ชิด 2 รายนี้ และประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อติดตามผู้ใกล้ชิดในครอบครัว ชุมชน และแนะนำให้เฝ้าระวังอาการด้วยเช่นกัน ว่ามีใครไม่สบายหรือไม่

ทั้งนี้ จากข้อมูลระบาดวิทยา คาดว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศได้น้อยมาก เพราะเราไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศมา 80 กว่าวัน เราตรวจเชิงรุกในชุมชน ในพื้นที่ หรือในเหตุการณ์ เช่น กรณีระยอง กทม. กระบี่ หรือบริเวณชายแดนสระแก้ว ผลทั้งหมดเป็นลบ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนเดินทางเข้ามาและอยู่ในสถานกักกัน เกือบ 7 หมื่นรายที่เราตรวจ พบ 400 กว่าราย หมายความว่าโอกาสติดเชื้อในประเทศจึงน้อย แต่มาตรการจึงกำหนดว่าต้องตรวจสอบและสอบสวนโรคอยู่ รพ.รามาธิบดีจึงรับคนที่มาตรวจแม้จะในปริมาณน้อยในรายที่ 2 ไว้ใน รพ.เพื่อแยกเพื่อความปลอดภัย และคงตรวจเพิ่มเติม เช่น ภูมิคุ้มกันและอื่นๆ เพื่อพิสูจน์ทราบเหมือนรายที่ 1 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่รับไว้อาจจะอยู่ใน รพ. 1-2 สัปดาห์ ขึ้นกับผลการตรวจสอบว่า ออกมาแบบใด อย่างไรก็ตาม จากที่ข่าวออกมา รพ.ได้ประสานกรมควบคุมโรค เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว ข่าวหลายๆ อย่างที่เราไม่ตอบ เพราะต้องการข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งกรณีนี้เราใช้เวลาไม่นานในการตรวจสอบเพื่อสร้างความกระจ่าง และลดความตระหนกของประชาชน 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา รายงานผลการศึกษาเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่่ผานมา ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคหรือซากเชื้อในคนที่ได้รับการวินิจฉัยได้นานถึง 3 เดือน เพราะในไทยเองก็เคยเจอเคสเช่นนี้ โดยตั้งแต่ ม.ค. มีผู้ติดเชื้ออยู่ใน รพ.นาน 2 เดือนกว่า เพราะเรายังไม่มีความรู้มากพอ ก็รอจนตรวจไม่พบเชื้อแล้วให้กลับบ้านได้ แต่ปัจจุบันหลังเจอเชื้อ 8 วันไปแล้ว เมื่อนำไปตรวจการเพาะเชื้อแล้วก็ว่าเพาะเชื้อขึ้น คือ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้

ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแนศิริ รอง ผอ.รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า กรณีรายที่ 2 เราได้แยกออกจากคนอื่น เพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการเฉยๆ ยังไม่มีการให้ยา เนื่องจากยังไม่มีอาการ ยังสบายดี และอยู่ระหว่างวสอบสวนเพิ่มเติม

เมื่อถามว่าต้องลงไปตรวจเชิงรุกในพื้นที่เหมือนกรณีอื่นๆ หรือไม่  นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นต้องตรวจเชิงรุกในพื้นที่ แต่ขอให้ทุกคนในสังคมการ์ดอย่าตก โอกาสแพร่เชื้อระหว่างกันจะน้อย และยังต้องล่างมือ เว้นระยะห่างให้เหมาะสม

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง