ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยข้อมูลระบาดวิทยา พบ Cycle time สูง การพบเชื้อจะน้อย ส่วนใหญ่พบมากในผู้อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการตรวจเชื้อจากกรณีพบซากไวรัสโคโรนา 2019 ในร่างกายผู้ติดเชื้อรายเดิม และ ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัส ว่า ขณะนี้ในส่วนของหญิงวัย 35 ปี ที่สงสัยติดเชื้อเชื้อโควิด และรับการรักษาอยู่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ยังต้องติดตามผล ทั้งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับการตรวจอาการ และข้อมูลทางระบาดวิทยา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการตรวจพบเชื้อปริมาณน้อยภายหลังกักตัว 14 วันเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะตามข้อมูลระบาดวิทยา ข้อมูลทาง Cycle time หรือรอบการตรวจเชื้อพบว่า หาก Cycle time สูงการพบเชื้อจะน้อย อย่างหาก Cycle time สูงกว่า 30 แสดงว่ามีเชื้อน้อย และหากอยู่ 35 แสดงว่าต้องตรวจเชื้อซ้ำ ซึ่งในผู้ที่อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ จะพบกลุ่มไม่มีอาการจำนวนมาก ซึ่งเมื่อตรวจเชื้อจะพบว่ามี Cycle time มากกว่า 35 ส่วนที่ว่าออกจากสถานที่กักตัวของรัฐแล้วจะพบเชื้อได้หรือไม่ มีโอกาส แต่จะเป็นซากเชื้อ ซึ่งข้อมูลในต่างประเทศที่ผ่านมาอาจพบเศษเชื้อ หรือซากเชื้อได้ประมาณ 3 เดือน แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นช่วงที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ เนื่องจากตามทฤษฎีเชื้อไวรัสจะมีชีวิตอยู่ 8 วัน

“ข้อมูล ณ ตอนนี้ จากศูนย์ CDC สหรัฐ พบว่า ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ร้อยละ 50 มีอาการ อีกกกว่าร้อยละ 20 มีอาการไม่มาก ส่วนอีกร้อยละ 20 ไม่มีอาการ” นพ.โอภาส กล่าว