ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม เปิดสถานการณ์การทำงานผู้สูงวัยเป็นแรงงานนอกระบบ 88% ส่วนใหญ่ภาคเกษตร รองลงมา ภาคบริการและการค้า ขณะที่ประเภทจ้างงานในองค์กรพบ 44.4% ถูกจ้างรายวัน ส่วนพิษโควิด-19 รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ส.ค. ที่โรงแรมแมนดาริน ถนนพระราม 4 ผศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเสวนา “โควิด-19 : ผลกระทบต่อการจ้างงานผู้สูงอายุและการเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)

ผศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการรวบรวมสถานการณ์ผู้มีงานทำอายุ 15 ปีขึ้นไปในช่วงปี 2562 พบว่า คนไทยมีอัตราการมีส่วนร่วมในการทำงานสูงตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 45-49 ปี แต่จุดเริ่มที่เริ่มออกจากกำลังแรงงานหรือหยุดทำงานก่อนเข้าสู่สูงอายุ โดยผู้หญิงพบเร็วกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงเริ่มมีการลดลงของผู้มีงานทำตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ในขณะที่ผู้ชายจะเริ่มลดชัดตั้งแต่อายุ 55 -59 ปี แต่จะลดลงมากในช่วงอายุ 60-64 ปี อย่างไรก็ตาม ภาพรวมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 34.5 (1 ใน 3 ) ยังคงทำงาน และยังพบว่าผู้มีงานทำลดลงเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ที่ทำงานในช่วงอายุ 55-59 ปี เมื่อเข้าสู่อายุ 60-64 ปี

ผศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวอีกว่า สำหรับภาคเศรษฐกิจของแรงงานไทยตามกลุ่มอายุในภาพรวมอายุ 15-80 ปี ภาพรวมจะพบว่า ทำงานภาคบริการและการค้าร้อยละ 50.7 รองลงมาภาคเกษตร 33.5 และภาคการผลิตร้อยละ 15.7 แต่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้สูงอายุที่ทำงานมากกว่าร้อยละ 60.3 อยู่ในภาคเกษตร ร้อยละ 32.1 อยู่ในภาคบริการและการค้า และร้อยละ 7.6 อยู่ในภาคการผลิต ดังนั้น เมื่อพิจารณากลุ่มที่ออกจากการทำงานก่อนอายุ 55 ปี อยู่ในภาคบริการและการค้า และการผลิต ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังทำงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งอาจทำอยู่ก่อนแล้ว หรือเปลี่ยนงานจากภาคบริการและการค้า รวมทั้งการผลิต มาทำการเกษตรแทนก็ได้

ผศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า สำหรับสถานภาพการทำงานปี 2562 ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้สูงอายุที่ทำงาน พบว่าประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างสูงสุดถึง 62% นอกจากนี้ จากการรวบรวมข้อมูลประเภทการจ้างงานของผู้สูงวัยที่เป็นแรงงานในองค์กรมี 8.9% ของแรงงานสูงอายุทั้งหมด พบว่า ลูกจ้างสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่าถูกจ้างรายวันถึง 44.4% ลูกจ้างรายเดือน 39.9% และลูกจ้างอื่นๆ เช่น เหมางาน รายชิ้นงานพบ 15% ส่วนผู้สูงอายุ 40 ปีขึ้นไปจนถึง 60 ปีขึ้นไป พบว่าเป็นแรงงานนอกระบบสูงถึง 88%

“สำหรับโควิด-19 กับผู้สูงอายุนั้น ผลกระทบที่เห็นชัดจากการที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานภาคเกษตร ผลที่ได้รับชัดคือ ผลกระทบภาคเกษตร การส่งออกหาย กำลังซื้อลด ราคาลง ขณะที่ผลกระทบภาคการค้าและบริการ หยุดหรือปิดกิจการ ปรับวิถีการทำงาน ส่วนผลกระทบทางอ้อมจากครัวเรือน เช่น รายได้ครัวเรือนลดลง ทั้งจากตัวเอง และสมาชิกในครัวเรือน ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งต้องหยุดทำงาน มาดูแลเด็กๆ ลูกหลานที่โรงเรียนปิด” ผศ.ดร.เฉลิมพล กล่าว