ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ และได้รับเชื้อโรคที่ถ่ายทอดทางโลหิต หากมาบริจาคโลหิต โลหิต 1 ถุง สามารถส่งต่อโรคไปให้ผู้ป่วยมากกว่า 3 ชีวิต

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ในการรับบริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วย จำเป็นต้องมีการคัดเลือก ผู้บริจาคโลหิตจากผู้ที่มีสุขภาพดี และไม่มีความเสี่ยงที่อาจได้รับเชื้อโรคที่สามารถถ่ายทอดทางโลหิตไปสู่ผู้ป่วยได้ ดังนั้น หากผู้ที่จะบริจาคโลหิต ทราบว่าตนเองมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ขอให้งดการบริจาคโลหิตออกไป เพราะหากบริจาคโลหิตแล้ว โลหิตที่ได้รับบริจาคอาจนำเชื้อโรคถ่ายทอดไปให้แก่ผู้ป่วยและเพิ่มโรคแก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งก่อนบริจาคโลหิตจะมีขั้นตอนการคัดกรองสุขภาพ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.ผู้บริจาคโลหิตคัดกรองสุขภาพด้วยตนเอง ว่ามีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะบริจาคโลหิตหรือไม่ และที่สำคัญต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ ที่จะนำเชื้อโรคส่งต่อไปให้แก่ผู้ป่วย

2.ผู้บริจาคโลหิตตอบแบบสอบถามในแบบฟอร์มก่อนการบริจาคโลหิต โดยตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองตามความเป็นจริง ไม่ปิดบังข้อมูล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการมาบริจาคโลหิตในระยะ window period หากมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจได้รับโรคที่สามารถถ่ายทอดทางโลหิตไปยังผู้ป่วย หรือมีโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตนเอง ขอให้งดการบริจาคโลหิตเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและตนเอง

3.การคัดกรองโลหิตบริจาคทางห้องปฎิบัติการ โลหิตที่ได้รับบริจาคจะถูกนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีขั้นตอนการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจแฝงมากับโลหิตบริจาค โดยเฉพาะ การตรวจหาเชื้อเอดส์ หรือ HIV ถึงแม้ว่าปัจจุบัน จะนำเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อ HIV โดยวิธี NAT เป็น การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ HIV ที่มีความไวสูงสุดมาใช้ในการตรวจ แต่ถ้าผู้บริจาคโลหิตได้รับ เชื้อ HIV ในระยะเริ่มต้นหรือเรียกว่า window period ภายใน 8 วันก่อนมาบริจาคโลหิต ก็ไม่สามารถที่จะตรวจพบได้ เพราะเชื้อยังมีจำนวนน้อย จนไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยที่ได้รับโลหิตนั้นได้

จึงขอฝากไปยังผู้ที่จะบริจาคโลหิต ขอให้มีความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยให้ข้อมูลตามความเป็นจริง หากมีความเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ ขอให้งดการบริจาคโลหิตเพราะจะเป็นการเพิ่มโรคให้แก่ผู้ป่วยได้