ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการชี้ ภาษียาสูบ 2 ระดับ ทำรัฐสูญรายได้มหาศาล จี้ยกเลิกแผนขึ้นภาษีเป็น 40% อัตราเดียวในปีหน้า พร้อมกำหนดโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ทันที พร้อมนำเงินรายได้จากภาษีบางส่วนหนุนชาวไร่ยาสูบปลูกพืชทดแทนในอนาคต

วันที่ 23 ส.ค. ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยยอดจำหน่ายบุหรี่ในประเทศไทยจากรายงานของ Euromonitor International พบว่า ปัจจุบันบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ มีการจำหน่ายในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึง 50% ในปี 2562 (จากเดิมมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 29% ในปี 2560) ขณะที่การยาสูบแห่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงจาก 65% ในปี 2560 เหลือเพียง 43% ในปี 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่บุหรี่ต่างชาติมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงกว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นผลกระทบมาจากการปรับโครงสร้างภาษียาสูบเมื่อปี 2560 ที่สร้างระบบภาษี 2 ระดับขึ้นมาโดยให้บุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาทต่อซอง เสียภาษีตามมูลค่าร้อยละ 20 ส่วนบุหรี่ราคาสูงกว่า 60 บาทต่อซอง เสียในอัตราร้อยละ 40 ทำให้บุหรี่ต่างประเทศฉวยโอกาสลดราคาบุหรี่ลง จากที่เคยขายปลีกซองละ 72 บาทลดราคาลงมาเหลือ 60 บาท ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า ในขณะที่การยาสูบแห่งประเทศไทยกลับขึ้นราคาบุหรี่ อย่างที่เคยขาย 51 บาทขึ้นราคาเป็น 60 บาท หรือบางยี่ห้อจากที่เคยขาย 63 บาทกลับขึ้นราคาเป็น 90 บาท ผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีครั้งนั้น ทำให้การยาสูบฯ มีเงินนำส่งรัฐได้ลดลงกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับก่อนการปรับโครงสร้างภาษีปี 2560 (ปี 2561 ลดลง 12,814 ล้านบาท ปี 2562 ลดลง 14,098 ล้านบาท) และกำไรของการยาสูบฯจากที่เคยได้ถึง 9,343 ล้านบาทในปี 2560 ลดลงเหลือเพียง 843 ล้านบาทในปี 2561 และ 513 ล้านบาทในปี 2562

“รัฐบาลควรจะเร่งพิจารณาการยกเลิกโครงสร้างภาษียาสูบ 2 ระดับที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทันที เพราะโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทย และชาวไร่ยาสูบวิกฤตมา 2 ปีซ้อนแล้ว การเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปอีก 1 ปีจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลควรยกเลิกแผนที่จะขึ้นภาษีเป็น 40% อัตราเดียวปีหน้า และกำหนดโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ทันที ให้มีประสิทธิภาพลดการบริโภคยาสูบได้จริง และมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐและชาวไร่ยาสูบน้อยที่สุด โดยอาจนำเงินรายได้จากภาษีบางส่วนมาช่วยสนับสนุนชาวไร่ยาสูบในการปลูกพืชทดแทนยาสูบในอนาคต” ดร.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า โดยหลักแล้วการกำหนดโครงสร้างภาษียาสูบ ต้องคำนึงถึงทั้งรายได้ที่รัฐบาลจะได้รับ และผลที่จะทำให้การสูบบุหรี่ลดลง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับอัตราภาษีเป็น 2 ระดับ เมื่อปี 2560 มีความผิดพลาด ส่งผลเสียต่อทั้งรายได้ของรัฐและการสูบบุหรี่ก็ไม่ได้ลดลง การที่รัฐบาลประกาศยืดระยะเวลาการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีออกไปอีกโดยอ้างว่าเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด จะยิ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทบุหรี่ต่างชาติ และเป็นการซ้ำเติมการยาสูบแห่งประเทศไทย และชาวไร่ยาสูบก็จะขายใบยาให้กับการยาสูบฯ ไม่ได้ เดือดร้อนถึงรัฐบาลต้องจัดงบเข้าช่วยเหลือ 2 ปีซ้อน


 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง