ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสฯ จุฬาฯ เผยสาเหตุตั้งชื่อสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา เพื่อนำมาช่วย ติดตามต้นตอถิ่นกำเนิดไวรัส ช่วยเรื่องระบาดวิทยา ไม่เกี่ยวกับสายพันธุ์ไหนดุกว่ากัน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ว่า มีคำถามในเรื่องการระบาดระลอก 2 ไวรัสโควิดจะกลายพันธุ์หรือไม่ ขออธิบายว่า สิ่งมีชีวิตทั้งคน สัตว์ และไวรัสต่างมีวิวัฒนาการ อย่างคนก็มีวิวัฒนาการให้มีสีผิว มีเส้นผมที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนยังเป็นคน

ดังนั้น ไวรัสโควิดก็เช่นกัน ซึ่งเริ่มจากจีนมีสายพันธุ์เอสและสายพันธุ์แอล โดยสายพันธุ์เอสมาประเทศไทย ก็บอกไม่ได้ว่ารุนแรงหรือไม่ แต่เมื่อมาออกลูกหลานในไทยเป็นสายพันธุ์ที ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนเพียง 1 ตัวจากหมื่นกว่าตัวเท่านั้น โดยสายพันธุ์เอสกรดอะมิโนตัวนั้นจะเปลี่ยนเป็นซีรีน (Serine) แต่สายพันธุ์ทีกรดอะมิโนตัวนั้นเปลี่ยนเป็นทรีโอนีน แต่ก็ไม่ได้รุนแรงขึ้น หรือไม่เกี่ยวกับทำให้วัคซีนไม่ได้ผล ขณะที่สายพันธุ์แอลไปยุโรป เมื่อแตกลูกหลานออกไปก็เป็นสายพันธุ์วี เพราะกรดอะมิโนเปลี่ยนแวรีน และสายพันธุ์จี เพาะกรดอะมิโนเปลี่ยนเป็นไกลซีน ก็ไม่ได้บอกว่ารุนแรงขึ้นหรือมีผลกับวัคซีน

"การตั้งชื่อสายพันธุ์ทั้งหลายมาช่วยเรื่องการแทรกกิ้งหรือติดตามว่า ต้นตอของไวรัสนี้มีถิ่นกำเนิดจากที่ไหน การระบาดครั้งนี้เริ่มต้นอย่างไร จะมาช่วยเรื่องการระบาดวิทยา มากกว่าบอกว่าสายพันธุ์นี้รุนแรงกว่าสายพันธุ์นี้ อย่างคนไข้ส่วนใหญ่ในสเตทควอรันทีน(State Quarantine) ผมเอาไวรัสมาถอดรหัสพันธุกรรม พบว่า เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์จี ซึ่งการระบาดในระลอกแรกของเราส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เอส และเรากวาดล้างหมดแล้ว ไม่มีการระบาดในประเทศ หากมีการระบาดขึ้นมา เมื่อถอดรหัสออกมาก็จะช่วยให้ทราบ ว่าต้นตอมาจากจุดไหน จุดเดียวกันหรือไม่ เช่น หากระบาดที่จังหวัดหนึ่ง กับอีกจังหวัดหนึ่งมีต้นตอเดียวกันหรือไม่ ตรงนี้จะเชื่อมโยงกันได้ ดังนั้น จุดมุ่งหมายจึงมีประวัติอันนี้ ไม่ได้ต้องการบอกว่าสายพันธุ์ไหนดุกว่าสายพันธุ์ไหน และหากเกิดระบาดระลอก 2 ก็คงไม่มีสายพันธุ์เอสที่ระบาดระลอกแรกแล้ว แต่หากมีจริงเป็นสายพันธุ์เดียวกับระลอกแรก ก็จะทำให้เราทราบว่า เชื้ออาจซ่อนเร้น หลบอยู่ที่ไหนถึง 80 กว่าวัน ก็จะทำให้ทราบได้" ศ.นพ.ยง กล่าว