ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความประทับใจของ “นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์” อดีตผอ.รพ.น่าน ซึ่งปฎิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทเสียสละ และล่าสุดบริจาคที่ดิน 5 ไร่ริมแม่น้ำน่านให้กับโรงพยาบาล

 

“ผมคิดว่าใน กทม.มีหมอเก่งๆ เยอะแล้ว อยู่ตรงนี้คงช่วยไม่ได้มาก ไปบ้านนอกจะทำประโยชน์ได้มากกว่า พอช่วงปีท้ายๆ ที่เรียนทางศูนย์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทยชักชวนให้เราออกไปชนบท ได้มาที่ จ.น่าน ผมได้เจอกับ นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ซึ่งเป็นช่วงสำคัญมากๆในชีวิต ผมได้เห็นการทำงานของแพทย์ที่ดี ทุ่มเท เสียสละ ท่านมีความเป็นพหูสูต เฉลียวฉลาด ทำอะไรก็สมาร์ทไปหมด ทำให้ผมอยากมาทำงานที่ จ.น่าน ฝังใจว่าอย่างไรก็ต้องมาทำงานที่เมืองน่าน โดยผมได้รับคำสอนจากท่านทั้งด้านการแพทย์และการใช้ชีวิต”

นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของ นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์ ซึ่งในขณะนั้นช่วงปี 2520 แพทย์หนุ่มจากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และศึกษาต่อด้านอายุรศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งด้านเวชกรรมสังคมจากประเทศอังกฤษ ตัดสินใจรับหน้าที่ นายแพทย์หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลน่าน ซึ่งในขณะนั้น มีนพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร นายแพทย์นักพัฒนา เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน จากครั้งนั้นจนถึงปัจจุบัน กว่า 40 ปีแล้วที่คุณหมอคณิตเป็นแพทย์อยู่ที่ จ.น่าน เพียงแห่งเดียว และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน

“จะบอกว่าผมเป็นคน จ.น่าน ไปแล้วก็ได้” คุณหมอคณิต อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาล จ.น่าน ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2537-2551 ยอมรับอย่างอารมณ์ดี

คุณหมอคณิต ผู้เป็นต้นแบบด้านความเสียสละ มีเมตตา และเป็นที่รักของบุคลากรทางการแพทย์ใน จ.น่าน เคยได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นแพทยสภา ประจำปี 2543 และล่าสุด เมื่อช่วงเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 5 ไร่ 40.6 ตารางวา ริมแม่น้ำน่าน ฝั่งอำเภอภูเพียง (ตรงข้ามโรงพยาบาลน่าน) บริจาคให้เป็นสมบัติของโรงพยาบาลน่าน จนได้รับสมญาว่า “คุณหมอผู้ใจบุญ” เพิ่มมาอีกตำแหน่งหนึ่ง

นพ.คณิต เล่าว่า ช่วงเป็นนักเรียนแพทย์ ได้รวมกลุ่มกันกับเพื่อนๆ ไปบวชเรียนโดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ และไปต่อที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ของท่านพุทธทาสภิขุ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ไปกลุ่มอาสานักศึกษามหิดล ออกค่ายสร้างโรงเรียนภาคอีสาน เห็นสภาพความเป็นอยู่ของบ้านนอกที่ทุกข์ยากพอสมควร

“ถ้าย้ายผมให้ไปเป็นผู้อำนวยการ รพ.จังหวัดอื่น ผมก็จะลาออกจากการเป็นผู้อำนวยการ” แม้จะเกษียณมากว่า 12 ปีแล้ว แต่ นพ.คณิต ยังยืนยันจะขออยู่ที่ จ.น่าน

กว่า 40 ปีที่เมืองน่าน นอกจาก นพ.คณิต จะเป็นที่รักของชาวบ้านและบุคลากรทางการแพทย์ใน จ.น่าน แล้ว เป็นที่รู้กันว่าเป็นแพทย์ที่ไม่เปิดคลีนิคนอกเวลางาน

“ผมรู้สึกว่าชีวิตหมอไม่ต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน นี่ต้องขอบคุณพ่อแม่ที่สร้างฐานะทางครอบครัวที่บ้านผมดีพอสมควร ทำให้ผมไม่ต้องไปแสวงหา ถือเป็นโชคดีส่วนตัว ไม่เหมือนเพื่อนๆ แพทย์คนอื่นๆ ซึ่งมีภาระที่จำเป็นต้องใช้จ่าย ผมไม่ค่อยอยากทำงานเยอะ ตอนเย็นผมอยากเล่นกีฬา ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายแล้วจะไม่สบายใจ”

บ้านเกิดของ นพ.คณิต อยู่ที่ย่านสำเพ็ง กทม. พ่อและแม่อพยพเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากทำการค้าขาย มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน คุณหมอคณิตเป็นคนที่ 3

“ผมมีพี่ชาย 1 คน พี่สาว 1 คน ผมเป็นคนที่ 3 มีน้องชาย 1 คนและน้องสาวอีก 4 คน คือมีผู้ชาย 3 ผู้หญิง 5 พ่อแม่ผมเคร่งครัดเรื่องระเบียบวินัยเป็นอย่างมาก ที่ท่านทำและผมจดจำมาในส่วนที่ท่านสอนนั้น เมื่อโตขึ้นผมมีโอกาสได้ทบทวนด้วยการเขียนชีวประวัติบางส่วนของพ่อแม่ มี 2 เรื่อง หนึ่งคือท่านมีความขยันอดทน ซึ่งเป็นธรรมชาติของคนที่อพยพมาจากเมืองจีน และสองคือเรื่องความกตัญญู ซึ่งพ่อผมได้พาคุณย่ามาอยู่ที่เมืองไทยด้วยเพื่อปรนนิบัติดูแล นี่เป็นส่วนที่ติดตัวผมมา” นพ.คณิต เล่าถึงครอบครัวที่เติบโตมา

ในวัยเด็ก นพ.คณิต เรียนหนังสือที่โรงเรียนจีนของสมาคมแต้จิ๋ว และไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่งมาตั้งแต่เริ่มต้น

“เวลาสอบกลางเทอมคะแนนจะหมิ่นเหม่มาก ในขณะที่สอบประจำเทอมคะแนนก็ดีขึ้นมาหน่อย ทำให้ผ่านพ้นมาได้ทุกปี มีปีสุดท้ายที่ทำคะแนนดี คือผมเพิ่งจะมาเรียนเก่งตอนใกล้จบประถม 4 โดยยังใช้ภาษาไทยไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไรด้วย ก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จ.ชลบุรี”

“ที่อัสสัมชัญศรีราชาเป็นโรงเรียนกินนอน ผมเป็นเด็กประจำ ซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยที่โรงเรียนกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ส่วนดีคือทำให้ผมได้มีทักษะชีวิตพอสมควรในการดูแลตัวเอง ทำกิจกรรมส่วนตัวได้ ไม่ใช่ทำอะไรไม่เป็น ผมรู้สึกถูกฟูมฟักสมัยที่โรงเรียนกินนอน พอเข้าอัสสัมชัญศรีราชา ผมเล่นกีฬาทุกวัน ชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ จนกระทั่งเป็นแพทย์แล้วก็ยังสนใจอยากให้ทุกคนได้ออกกำลังกาย”

หลังจบจากอัสสัมชัยศรีราชาแล้ว นพ.คณิต เลือกที่จะเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ (ACC)

“ผมอยากเป็นหมอก็ตอนที่เรียน ปวช. ที่อัสสัมชัญพาณิชยการ ผมคิดว่า ACC น่าจะมีผมอยู่คนเดียวที่เปลี่ยนวิชาชีพมาเป็นแพทย์ เนื่องจากที่บ้านทำการค้าขาย เลยเลือกเรียนพาณิชยการเพื่อเจริญรอยตาม ตอนเรียนอัสสัมชัญศรีราชาด้วยคะแนนที่ทำได้เลยสามารถเข้าเรียนที่อัสสัมชัญพาณิชยการได้อัตโนมัติ ไม่ได้คิดจะไปแข่งขัน ไม่ได้คิดจะไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมอะไรเลย”

“บังเอิญเวลาที่ผมผ่านย่านเยาวราช เห็นบางร้านบน ถ.เยาวราชมันเงียบเหงา ผมเห็นร้านขายนาฬิกาแต่ด้วยความที่เราไม่เข้าใจว่าเขาเป็นร้านขายส่งหน้าร้านไม่จอแจ เลยคิดว่าคนทำการค้าดูเหงาๆ ถ้าผมค้าขายก็คงไม่ได้เป็นประโยชน์มากนัก ด้วยความที่ชอบวิชาวิทยาศาสตร์ ผมเลยไปสมัครเรียนเตรียมอุดมในภาคค่ำ คิดว่าตัวผมเองจะทำอะไรเป็นประโยชน์ได้บ้าง ถ้าเรียนแพทย์ก็คงจะได้ช่วยสังคม เลยไปเรียนกวดวิชา อยากสอบเข้าให้ได้เพราะชอบวิทยาศาสตร์ ตอนคะแนนออกมาก็คิดว่าไม่ค่อยได้เรื่อง แต่ก็สอบติดแพทย์ สมัยก่อนสอบเอนทรานซ์เลือก 6 อันดับ ผมเลือกคณะแพทยศาสตร์ 5 อันดับ ส่วนอันดับที่ 6 เลือกคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคค่ำ”

ในที่สุด นพ.คณิต ก็สามารถสอบติดคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคณะที่เลือกไว้เป็นลำดับแรก

“เข้าไปเรียนแพทย์ผมเล่นกีฬาทุกอย่างทั้งฟุตบอล บาสเกตบอล เซปักตะกร้อ แบดมินตัน ในขณะที่คนอื่นๆคงแก่เรียน แต่ผมเป็นนักกีฬาคณะแพทย์ และเป็นนักกีฬาแบดมินตันกับตะกร้อของมหาวิทยาลัย ส่วนตัวชีวิตผมไม่ได้เป็นคนที่เคร่งการเรียนจนสุดๆ ผมจะสบายๆพอสมควร ชอบเล่นกีฬา”

“หมอรามาธิบดีสมัยนั้นมีคนเรียนไม่มาก แค่ 64 คน รุ่นผมเป็นรุ่นแรกๆ อาจารย์ผู้สอนค่อนข้างฟิตและเป็นห่วงลูกศิษย์คอยประคบประหงม ตกเย็นมาก็เยี่ยมนักศึกษาแพทย์เป็นกำลังใจ ขณะเรียนอยู่นั้นอบอุ่น ทำให้ผมมีทัศนคติที่ดีต่อการแพทย์ อาจารย์เป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นว่านอกจากจะช่วยดูแลคนแล้ว ยังพยายามสอนให้คนอื่นได้ดีด้วย”

ในขณะที่ความประทับใจในการรักษาคนไข้ นพ.คณิต เล่าเรื่อง Anthrax (แอนแทร็กซ์) ซึ่งเป็นเชื้อที่เข้าไปในอวัยวะภายในจากการรับประทานเนื้อดิบที่ติดเชื้อมา ทำให้ระบบในร่างกายรวน

“เชื้อแอนแทร็กซ์เป็นอาวุธชีวภาพอย่างหนึ่ง เจอเฉพาะถิ่นโดยเฉพาะบ้านนอก แต่พบไม่ย่อย นพ.บุญยงค์ จะพูดถึงกรณีของโรคบางอย่างว่าแอนแทร็กซ์เป็นภาวะที่คนไข้มาโรงพยาบาลด้วยอาการท้องอืด ท้องมาน เนื่องจากมีน้ำออกในช่องท้อง เลือดน้อยลงในระบบหมุนเวียน คนไข้ช็อคได้ ความดันต่ำ ดูมีสติแต่หน้าท้องใหญ่ขึ้นค่อนข้างเร็วถ้าน้ำออกมามากยิ่งช็อค อาการคนไข้จะแย่ลงถ้าไม่เฉลียวอาจไม่ทราบได้ว่าเกิดจากเชื้อแอนแทร็กซ์ นพ.บุญยงค์ ท่านอยุ่ในพื้นที่ให้ความสนใจกรณีแบบนี้ เป็นเคสที่แพทย์ไม่เคยเรียนมาก่อน”

“กรณีนี้คนไข้ฆ่าควาย เอานิ้วไปแตะเลือดแล้วชิมดูว่ารสชาติหวานดี ไม่ได้เอะใจ สุดท้ายเสียชีวิต แม้ว่าเราจะรู้แต่ก็รักษาไม่ง่ายเลย ต้องใช้ยาปฏิชีวนะค่อนข้างแรงและดี สุดท้ายเอาไม่อยู่ นี่เป็นเคสเรียกได้ว่าผมฝังใจ ประทับใจทั้งดีและไม่ดี”

นพ.คณิต ยังเล่าถึงเคสผู้ป่วยพยาธิชนิด Trichinosis (ทริคิโนซิส) พยาธิที่อยู่ในกล้ามเนื้อที่ระบาดหลายครั้งในงานบุญงานเลี้ยงเนื่องจากเอาหมูที่ชาวเขาเลี้ยงมาทำลาบดิบ

“ชาวเขาเลี้ยงหมูแบบปล่อย แล้วชาวเขาไม่กินดิบ คนเหนือกินลาบดิบทำให้ชาวบ้านติดโรคนี้เป็นร้อยคนต้องตั้งหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่บ้าน ขณะนั้นมีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งมาอยู่ที่โรงพยาบาลน่าน ท่านคือ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คนปัจจุบัน ท่านเป็นนักวิชาการมีความสนใจในกรณีนี้มากในที่สุดเป็นผลงานค่อนข้างเด่น คือเราทำการใช้เข็มแทงไปที่น่องซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ขยับบ่อย ทำให้ไม่มีแผลใหญ่ ทำไม่ยาก เสร็จแล้วเอามาส่องกล้องจุลทรรศน์เห็นตัวพยาธิดิ้นอยู่ พอเอามาให้ชาวบ้านดู ชาวบ้านแตกตื่นกันใหญ่บอกว่าไปรักษาที่อื่นแค่แจกยา แต่รพ.น่าน เอาเชื้อออกมาได้ด้วย คนแห่กันมารักษาที่ รพ.น่าน กันเยอะเลย”

“ผมทำงานต่อสู้กับอาหารดิบขอชาวบ้านว่าอย่ารับประทานเลย พยายามชี้แจงเรื่องนี้ แต่เจ้าหน้าที่ รพ.เองก็ยังทานกันอยู่ ถ้าผมอยู่ด้วยผมจะแช่งให้เป็นนั่นเป็นนี่เลย ผมพูดเชิงเล่นๆ นะ คือผมก็จะว่าทันทีที่เห็นรับประทานอาหารดิบ ผมยังพูดเล่นๆอีกด้วยว่าถ้าใครกินลาบดิบในโรงพยาบาลน่านจะตัดเงินเดือน ความเปลี่ยนแปลงของสังคมก็ทำให้ลาบดิบค่อยๆหายจากสังคม”

กรณีที่สร้างความประทับใจในการรักษาคนไข้ของ นพ.คณิต อีกเคสหนึ่งคือ “โรคพิษสุนัขบ้า”

“สมัยที่ผมมาอยู่ จ.น่าน ใหม่ๆ คนไข้เสียชีวิตต่อหน้าผมหลายราย เรื่องนี้เราได้รู้ว่าทาง จ.ขอนแก่นมีนายแพทย์สาธารณสุขทำเรื่องฉีดวัคซีนให้สุนัข อาศัยอาสาสมัคร (อสม.) สาธารณสุขช่วยกันจับสุนัขฉีด ที่น่านเลยได้ไอเดียตรงนี้ เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก โชคดีที่ จ.น่านมี อสม.เข้มแข็ง หัวหน้าพยาบาลเวชกรรมสังคม คุณพิกุล เพ็งสนั่นกุล พยาบาลเวชปฏิบัติทำในส่วนชุมชนดีมากๆ อาสาสมัครที่นี่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ จ.น่าน ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เราทำสำเร็จมา 30 กว่าปีแล้ว จ.น่าน ไม่มีโรคพิษสุนัขบ้าในคน”

นับตั้งแต่ที่ นพ.คณิต เกษียณอายุตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆตั้งศูนย์ประสานงานประชาคม อาศัยพื้นที่ รพ.น่าน ทำสำนักงาน เพื่อทำงานให้กับชุมชนใน จ.น่าน และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับ รพ.น่าน อีกด้วย เป็นการใช้ชีวิตที่ยึดมาตลอดตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นแพทย์ คือชีวิตที่ “เป็นประโยชน์”

“ผมมีความสุขดีมากๆ” อดีตผู้อำนวยการ รพ.น่าน กล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใส

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง