ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เจ้าพนักงานเวชสถิติ ร้องเงินเพิ่มพิเศษทำโควิด -19 มีปัญหาอีก! บางคนได้ บางคนไม่ได้ บ้างได้ 3 เดือน บ้างได้ 6 เดือน ร้อง “อนุทิน-สาธิต” อย่าทิ้งพวกตน ช่วยให้ความเป็นธรรม ด้าน “หมอณรงค์” รับเรื่องเร่งหาทางช่วยเหลือ

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขส่งหนังสือด่วนที่สุด! ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ถึงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่บุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานโควิด-19 โดยบุคลากรสาธารณสุขที่จะได้รับเงินเพิ่มพิเศษจะต้องเป็นผู้ได้รับคำสั่งหรือมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีหนังสือรับรองการปฏิบัติงานจากผู้บังคับบัญชาขั้นต้น และจัดส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขภายในวันที่ 24 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา พร้อมแนบหลักเกณฑ์จากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังมาด้วยนั้น 

 ข่าวเกี่ยวข้อง : ข่าวดี! บุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานโควิด-19 รับเงินเพิ่มพิเศษ 1,000-1,500 บ.

                       : บุคลากรสธ.ทำงานโควิดรับ 2 เด้ง ! ‘บรรจุขรก.-เงินเพิ่มพิเศษ’ หลัง ส.ค.ช่วยกลุ่มตกสำรวจ

น.ส.ธีรานันท์ จันทรมานนท์

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 25 ส.ค. น.ส.ธีรานันท์ จันทรมานนท์ เลขาและโฆษกชมรมเจ้าพนักงานเวชสถิติทั่วประเทศ กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ล่าสุดในกลุ่มเจ้าพนักงานเวชสถิติพบว่า บางคนได้รับเงินเพิ่มพิเศษดังกล่าว แต่บางคนก็ไม่ได้ หนำซ้ำคนที่ได้รับก็รับไม่เท่ากันอีก อย่างโรงพยาบาลบางแห่งได้รับ 3 เดือน แต่บางโรงพยาบาลได้รับ 7 เดือน ซึ่งตอนนี้กำลังสับสนกันมากว่า ตกลงได้กี่เดือนกันแน่ ที่สำคัญคนทำงานโควิด อยู่ด่านหน้าสัมผัสคนไข้ กลับไม่ได้รับ แต่คนไม่ทำงานกลับได้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างกับกรณีการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด-19 ที่คนทำไม่ได้ คนทำได้รับ

“พวกเราไม่ได้มองว่า กระทรวงสาธารณสุขผิด เพราะมีเกณฑ์ออกมาว่า คนที่ได้รับต้องทำงานโควิด แต่ที่เรามอง คือ การตีความของผู้บริหารโรงพยาบาล หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พิจารณาอย่างไรกันแน่ การตีความไม่ถูกหรือไม่ อย่างโรงพยาบาล ในจ.อุตรดิตถ์ เจ้าพนักงานเวชสถิติไม่ได้เลยสักคน ทั้งที่ทำงานกับโควิด รวมถึงรพ.ในจังหวัดอื่นๆ ทั้งเพชรบูรณ์ และขอนแก่น ก็ไม่ได้เลย จึงไม่ทราบว่า มีการพิจารณาอย่างไรว่า ใครทำงานหรือไม่ได้ทำงาน คนที่ได้ค่าตอบแทนที่เห็นคือ งานการเงิน งานบัญชี กลับได้ แต่คนสัมผัสจริงๆ กลับไม่ได้” น.ส.ธีรานันท์ กล่าว

เลขาและโฆษกชมรมฯ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นเจ้าพนักงานเวชสถิติในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ต่างทยอยทำบันทึกข้อความถึง ผอ.รพ.ว่า ไม่ได้ เพราะอะไร และขอให้พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการที่กระทรวงให้ส่งรายชื่อภายในวันที่ 24 ส.ค. ตนก็มองว่า เร็วเกินไป เพราะไม่แน่ใจว่า เกณฑ์พิจารณาไม่ชัดเจน หรือปัญหามาจากการตีความ ส่วนการเคลื่อนไหวภาพใหญ่ ว่า พวกตนจะเดินทางไปร้องเรียนถึงกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่นั้น กำลังพิจารณากัน เพราะเรื่องการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด-19 ก็ยังต้องรอเช่นกัน โดยจะรอช่วงเดือน ก.ย. ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร หากไม่มีอะไร หรือไม่มีคำตอบเลย ก็คงต้องทวงถามกันอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่าเจ้าพนักงานเวชสถิติที่ทำโควิดและไม่ได้บรรจุกว่า 600 คน มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนตามประกาศดังกล่าว น.ส.ธีรานันท์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รวบรวมเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่จากการพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนเวชสถิติ พบว่า 50 : 50 อย่างในจ.เพชรบูรณ์ บางรพ.ได้ บางรพ.ก็ไม่ได้ และกลุ่มที่ได้ก็พบว่า บางแห่งได้ 3 เดือน บางแห่งได้ 7 เดือน จึงไม่รู้ว่าเลือกอย่างไรกันแน่

“พวกเราขอฝากถึงท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และท่านสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ขอให้พวกท่าน ช่วยดูแลพวกเราด้วย เพราะความเหลื่อมล้ำในวิชาชีพสาธารณสุข มีมาก และท่านอาจมองไม่เห็นหรือไม่ อยากให้ท่านลงมาช่วย เพราะท่านบอกจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขออย่าทิ้งพวกเรา เพราะพวกเราก็ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข เป็นบุคลากรสาธารณสุขเช่นกัน” เลขาและโฆษกชมรมเจ้าพนักงานเวชสถิติทั่วประเทศ

ด้าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ไม่ต้องห่วง ทางกระทรวงฯ รับทราบเรื่องนี้ และจะรับเรื่องเข้ามาพร้อมพิจารณาหาทางออกให้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด