ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มีคำๆ หนึ่งที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ นั่นคือ Herd immunity (ภูมิคุ้มกันหมู่) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีสัดส่วนของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคหนึ่งๆ มากขึ้นถึงระดับหนึ่ง จนทำให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคในประชากรดังกล่าวได้รับการป้องกันจากการติดโรคไปด้วย

              วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่มีทั้งที่เกิดจากกลุ่มประชากรจำนวนมากที่เคยติดโรคมาก่อนแล้วหายจากโรคนั้น หรือจากการรับวัคซีน เนื่องจากโควิด-19 ยังไม่มีวัคซีน (ในช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้) บางประเทศจึงใช้วิธีทำให้ประชาชนติดเชื้อให้มากที่สุดแล้วเสี่ยงดวงให้คนหลุ่มนี้หายจากโรคมากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งปรากฎว่ไม่ค่อยจะได้ผลนัก

              แต่สำหรับโรคระบาดที่มีการค้นพบวัคซีนแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเสี่ยงดวงแบบตอนนี้ เพียงแค่รับวัคซีนให้ครบถ้วนเท่านั้น เราก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในระดับโลก ช่วยป้องกันมนุษยชาติจากโรคระบาดที่อาจคร่าชีวิตผู้คนนับหลายล้านชีวิตได้

              แต่ตอนนี้มีกระแสความลังเลในการรับวัคซีน (Vaccine hesitancy) ของคนบางกลุ่มที่เชื่อว่าวัคซีนจะทำอันตรายต่อพวกเขาและลูกๆ ของพวกเขา ความลังเลนี้กลายเป็นอาการต่อต้านการรับวัคซีน (Anti-vaccination) ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากเพราะเป็นการทำลายภูมิคุ้มกันหมู่ของมนุษย์ แะทำให้เกิดการระบาดของโรคระบาดที่จริงๆ แล้วสามารถป้องกันได้แต่เพราะการไม่ยอมฉีดวัคซีนของคนบางกลุ่มทำให้พวกมันกลับมาระบาดอีกครั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับระบุว่าการต่อต้านวัคซีนถือเป็นภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดของโลกในปี พ.ศ. 2562 (1)

              อาการลังเลาจนกลายเป็นการต่อต้านส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อผิดๆ (myths) และความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ถูกสุมไฟด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จหรือข่าวปลอมมากมาย เช่น ความเชื่อที่ว่าวัคซีนทำให้เกิดโรคออทิซึม

              ความกลัวว่าวัคซีนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคออทิซึมมีต้นเหตุมาจากการศึกษาปี 2540 ของแอนดรูว แวคฟีลด์ (Andrew Wakefield) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษซึ่งเผยแพร่บทความนี้ตีพิมพ์ใน The Lancet วารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียงโดยชี้ให้เห็นว่าวัคซีนโรคหัด, โรคคางทูม และหัดเยอรมันทำให้เด็กๆ ในอังกฤษเสี่ยงที่จะเป็นโรคออทิซึมมากขึ้น

              รายงานชิ้นนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือเอาเลยเพราะมีข้อผิดพลาดร้ายแรง และผู้ทำรายงานมีผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องการเงิน และยังเป็นการการละเมิดจริยธรรม ทำให้แอนดรูว แวคฟีลด์ต้องถูกยึดใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะและรายงานนี้ถูกถอดออกจาก The Lancet และเมื่อมีบุคคลอื่นทำการศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนกับโรคออทิซึมก็ไม่มีใครพบความเชื่อมโยงระหว่าง 2 เรื่องนี้เลย (2)

              อย่างไรก็ตาม แม้รายงานนี้จะถูกดิสเครดิตไปเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อมูลจากรายงานนี้ทำให้คนที่ลังเลเรื่องวัคซีนเกิดความตื่นตัวอย่างมาก บวกกับมีบุคคลที่มีชื่อเสียงบางคนสนับสนุนความเชื่อนี้ในช่วงทศวรรษที่ 2000s จนกระทั่งในปี 2557 ในโซเชียลมีเดียเริ่มมีแอคเคาท์จากรัสเซียเผยแพร่ข้อมูลเท็จเรื่องการฉีดวัคซีนทำให้เกิดโรคออทิซึมโดยมีการระดมยิงข้อมูลอยางหนักด้วยการใช้บอต (bots) เพื่อสร้างความแตกแยกขึ้นในสังคม (3)

              ผลก็คือถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะดิสเครดิตความเชื่อผิดๆ เรื่องการฉีดวัคซีนทำให้เกิดโรคออทิซึมไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนเชื่อในวงกว้างจนกระทั่งทุกวันนี้ว่าการฉีดวัคซีนทำให้เกิดโรคออทิซึม

              จากกรณีของโทรล (trolls) จากรัสเซียที่ก่อกวนประชาคมโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีน จะเห็นได้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการกระจายความเชื่อที่ผิดๆ แต่มันยังมีผลสะเทือนที่ลึกกว่านั้น จากงานวิจัยเรื่อง Polarization of the vaccination debate on Facebook (ความแตกแยกทางความคิดเรื่องการโต้เถียงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนทางเฟซบุ๊ค) พบว่ากลุ่มคนที่คิดต่างกันเรื่องวัคซีน คือกลุ่มต่อต้านและกลุ่มสนับสนุนเริ่มแตกแยกกันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างรับข่าวสารแบบที่ตัวเองชอบ จึงเหมือนภาวะ echo chambers หรือภาวะเราอยู่ในห้องแล้วได้ยินแต่เสียงสะท้อนของตัวเองไม่ได้รับรู้เสียงหรือทัศนะของอีกฝ่าย

              ผลที่ตามมาก็คือแคมเปญสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนจึงมีการเข้าถึงที่จำกัดและมีประสิทธิภาพเฉพาะในกลุ่มย่อยเท่านั้น ถ้ามีความพยายามจะนำข้อมูลที่ถูกต้องเข้าไปเผยแพร่ในกลุ่มของผู้ต่อต้านการฉีดวัคซีนข้อมูลนั้นจะถูกเพิกเฉยหรือแม้แต่ถูกโจมตีกลับ ยิ่งทำให้กลุ่มที่ต่อต้านการฉีดวัคซีนเชื่อแต่ข้อมูล (ผิดๆ) ของตัวเองมากขึ้นไปอีก

              ดังนั้น วิธีการแก้ไขข้อมูลจึงต้องค่อยป็นค่อยไปด้วยการทำความเข้าใจกับข้อมูลที่มีอยู่ใน echo chambers ของฝ่ายต่อต้านวัคซีนก่อนแล้วเข้าไปมีส่วนร่วมแบบโอนผ่อนผ่อนตามในกลุ่มนั้นๆ เพื่อที่ในอนาคตจะสามารถพบวิธีในการตอบโต้วิธีคิดต่อต้านการฉีดวัคซีนได้ (4)

              ความเชื่อผิดเรื่องวัคซีนไม่ใช่ความเห็นต่างที่ต้องเคารพ แต่เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพของชาวโลกทั้งมวล ดังนั้นจึงไม่สามารถประนีประนอมโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในทำนองนี้เป็นสาเหตุทำให้โรคระบาดกลับมาระบาดอีกครั้งในหลายประเทศ เช่นกรณีของโรคหัดระบาดในสหรัฐอเมริกาและที่ซามัวเมื่อปี 2562

              ในกรณีของซามัวองค์การอนามัยโลกกล่าวโทษว่าเป็นเพราะขบวนการต่อต้านการฉีดวัคซีนทำให้โรคนี้ระบาดหนัก แต่ที่เกิดเรื่องแบบนี้เป็นเพราะความโชคร้ายที่มีเด็ก 2 คนเสียชีวิตหลังจากรับวัคซีนผิดตัวในปี 2561 (ไม่ใช่เพราะวัคซีนเป็นอันตรายในตัวมันเอง) ทำให้ทางการซามัวปิดศูนย์วัคซีนและทำให้เกิดความกลัวในหมู่ประชาชน ตามด้วยการแพร่ข่าวปลอมเรื่องวัคซีนอย่างกว้างขวาง จนประชากรมีอัตราการรับวัคซีนต่ำ ทั้งๆ ที่ก่อนจะเกิดกรณีเด็กเสียชีวิตซามัวมีอัตราการรับวัคซีนสูงถึง 84% ผลก็คือชาวซามัวโดยเฉพาะเด็ก เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโรคหัดเมือ่ปี 2562 (5)

              วิธีการแก้ปัญหาของซามัวคือเตือนให้ผู้เคลื่อนไหวต่อต้านวัคซีนหยุดการแพร่ข้อมูล และเมื่อคนพวกนี้ไม่หยุดจึงทำการการจับกุมผู้ที่เคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มต่อต้านวัคซีนจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาป่วนเว็บไซต์ของรัฐบาลซามัวด้วย และในระยะหลังการแพร่ข้อมูลของฝ่ายนี้เริ่มซาลงไป (6)

              อีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้่งการแพร่กระจายของความเชื่อผิดๆ และข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนคือการลงมือโดยเจ้าขแองแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยตัวเอง เช่น เมื่อปี 2562 เฟซบุ๊คตัดสินใจที่จะลดการเข้าถึงข้อมูลต่อต้านวัคซีนบนแพลตฟอร์ม จะไม่อนุญาตให้ทำการโฆษณาหรือเป็นเพจที่ได้รับการแนะนำผ่านทางแพลตฟอร์มนำอีกต่อไป และเวลาที่ถูกผู้ใช้ค้นหาข้อมูลเรื่องนี้ระบบจะซ่อนให้พวกมันเด่นน้อยลง ในขณะเดียวกันเฟซบุ๊คจะเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนจากองค์กรผู้เชี่ยวชาญ (7)

              อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊คจะไม่ลบโพสต์ต่อต้านวัคซีนไปทั้งหมดซึ่งเรื่องนี้จึงยังจะกลายเป็นปัยหาต่อไปและเฟซบุ๊ครวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ เสี่ยงที่จะถูกตำหนิต่อไปฐานเป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวปลอม แต่อาจเป็นเพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้เล็งเห็นความสำคัญของผลกำไรจากการเปิดโอกาสให้มีผู้ใช้ที่กว้างขวาง (รวมถึงผู้ใช้ที่มีข้อมูลผิดๆ) มากกว่าที่จะช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่เที่ยงตรงเพียงอย่างเดียว

              ก่อนหน้าที่เฟซบุ๊คจะขยับเรื่องนี้ ได้ถูกโจมตีอย่างหนักมาก่อนจึงได้คล้อยตามแรงกดดัน ตัวอย่างเช่นจากการรายงานของ The Guardian ในอังกฤษพบว่า โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านการฉีดวัคซีนมักจะถูกจัดอันดับข้อมูลไว้เหนือกว่าแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มากกว่าในเฟซบุ๊ค (8)

              และจากการรายงานของ Daily Beast สื่อในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีการซื้อโฆษณาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่อต้านวัคซีนมากกว่า 150 รายการในเฟซบุ๊คและมักตั้งเป้าเข้าถึงผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 25 ปีและบางโฆษณาตั้งเป้าเข้าถึงผู้หญิงที่สนใจเรื่องตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจะสนใจเรื่องผลกระทบต่อวัคซีนกับลูกในครรภ์มากที่สุดอันเป็นอิทธิพลมาจากข่าวปลอมเรื่องวัคซีนกับโรคออทิซึม โดยรวมแล้วโฆษณาจำพวกนี้มีผู้เข้าชมอย่างน้อย 1.6 ล้านครั้งจากข้อมูลเมื่อเดือนก.ค. ปี 2562 (9)

              รัฐบาลและนักการเมืองในต่างประเทศพยายามแก้ปัญหานี้ เช่น ในสหรัฐอเมริกาที่มีปัญหาเรื่องการต่อต้านวัคซีนรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้มีการเรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้การต่อคณะกรรมาธิการและนัการเมืองบางคนได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ เคลื่อนไหวเพื่อทำลายข้อมูลที่ผิดๆ เหล่านี้ แต่การต่อสู้กับข้อมูลผิดๆ และข่าวปลอมเรื่องวัคซีนยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะความเชื่อผิดๆ ได้ฝังรากลึกอย่างมากและกลายเป็นขบวนการที่ค่อนข้างใหญ่ในช่วงหลัง

              และเราจะต้องจับตาว่าขบวนการต่อต้านวัคซีนจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันของมนุษยชาติต่อโรคโควิด-19 ด้วยหรือไม่

 

ภาพประกอบ CDC National Immunization Program (Public Domain)

 

อ้างอิง

1. "Ten threats to global health in 2019". WHO. (Jan 18, 2019). Retrieved Jul 28, 2020. from https://www.who.int/news-room/feature-stories/ten-threats-to-global-health-in-2019

2. "Vaccine Myths Debunked". PublicHealth.org. Retrieved Jul 28, 2020. from https://www.publichealth.org/public-awareness/understanding-vaccines/vaccine-myths-debunked/

3. Cummins, Eleanor. "How autism myths came to fuel anti-vaccination movements". Popular Science. (Feb 1, 2019) Retrieved Jul 28, 2020. from https://www.popsci.com/timeline-autism-myth-anti-vaccine/

4. Schmidt, Ana Lucía. et al. "Polarization of the vaccination debate on Facebook". Vaccine

Volume 36, Issue 25, 14 June 2018, Pages 3606-3612. https://doi.org/10.1016/j.vaccine.2018.05.040

5. "Samoa measles outbreak: WHO blames anti-vaccine scare as death toll hits 39" AFP. (Nov 28, 2019) Retrieved Jul 28, 2020. from https://www.theguardian.com/world/2019/nov/28/samoa-measles-outbreak-who-blames-anti-vaccine-scare-death-toll

6. "Samoa arrests anti-vaxxer amid measles epidemic". Deutsche Welle. (Dec 12, 2019). Retrieved Jul 28, 2020. from https://www.dw.com/en/samoa-arrests-anti-vaxxer-amid-measles-epidemic/a-51553140

7. "Facebook Will Crack Down on Anti-Vaccine Content". Wired. (Jul 3, 2019) Retrieved Jul 28, 2020. from https://www.wired.com/story/facebook-anti-vaccine-crack-down/

8. Wong, Julia Carrie. "How Facebook and YouTube help spread anti-vaxxer propaganda". The Guardian. (Feb 11, 2019). Retrieved Jul 28, 2020. from https://www.theguardian.com/media/2019/feb/01/facebook-youtube-anti-vaccination-misinformation-social-media

9. Markay, Lachlan. "Anti-Vaccine Facebook Ads Target Women in Measles-Stricken States". Daily Beast. (Feb 14, 2019) Retrieved Jul 28, 2020. from https://www.thedailybeast.com/anti-vaccine-facebook-ads-target-women-in-measles-stricken-states