ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยไทยไม่แพ้ใครในโลกใช้เทคนิคใส่รหัสพันธุกรรมในใบยาสูบ จนได้โปรตีนผลิตวัคซีนป้องกันโควิด- และแอนติบอดียับยั้งไวรัส ล่าสุดสถาบันวัคซีนแห่งชาติ หารือมหิดล สานต่อผลิตวัคซีนไพล็อตแพลน หวังทดลองในคน

หลังจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ไทยจากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และแอนติบอดีในการยับยั้งไวรัสจากใบยาสูบชนิดพิเศษได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกในการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น

เรามาทำความรู้จักกับการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และแอนติบอดี้ในการยับยั้งเชื้อไวรัส จากใบยาสูบกันว่า มีเทคนิคอย่างไร...

บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ จากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU Innovation Hub ซึ่งที่ผ่านมาคิดค้นวิจัยจนสามารถผลิตชุดทดสอบ COVID-19 : ชุดตรวจแอนติเจนและแอนติบอดีของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเรียกง่ายๆว่า เป็นชุดตรวจแอนติบอดีในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) นั่นเอง และล่าสุดยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19และแอนติบอดียับยั้งเชื้อไวรัส จากใบยาสูบ

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CEO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และ รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CTO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้บุกเบิกบริษัทใบยาสูบ พร้อมกับทีมนักวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคการได้โปรตีนมาจากใบยาสูบ ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีการใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก และไทยได้นำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์กรณีเกิดการระบาดระลอก 2 เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การระบาดโควิดอีกทางหนึ่ง

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ

“จริงๆเทคนิคการใช้พืชเพื่อผลิตโปรตีนนั้น มีการใช้ในหลายประเทศ โดยใบยาสูบที่นำมาใช้นั้น เป็นสายพันธุ์ที่มีนิโคตินระดับน้อยมากๆ ซึ่งปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมยาหลายแห่งทั่วโลกก็หันมาใช้โปรตีนจากพืชเพื่อผลิตเป็นยา หรือวัคซีน อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งไทย โดยบริษัท ใบยา ที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาฯ จึงหันมาวิจัยพัฒนาเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมยาใหม่ๆ จะมีการใช้ยากลุ่มโปรตีนมากขึ้น” รศ.ดร.วรัญญู กล่าว

สำหรับสาเหตุที่หันมาพัฒนาวัคซีนโควิดจากใบยาสูบนั้น รศ.ดร.วรัญญู ให้ข้อมูล ว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมยาใหม่ในปัจจุบันหันมาใช้โปรตีนจากพืชในการผลิตยา และกลุ่มวัคซีน อย่างวัคซีน การจะผลิตก็มีหลายวิธี ซึ่งวิธีนี้เป็นอีกวิธีที่หลายประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดที่ต้องการความรวดเร็วในการผลิต อย่างที่ผ่านมาการผลิตจะมีหลายแบบ เช่น การผลิตวัคซีนจากเซลล์เพาะเลี้ยงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งอุตสาหกรรมทั่วโลกใช้วิธีนี้ในการผลิต แต่การผลิตลักษณะนี้ต้องมีถังหมัก อาหารเพาะเชื้อ เรียกว่าต้องมีเทคโนโลยีรองรับ ซึ่งประเทศไทยยังต้องนำเข้าเทคโนโลยี

“ขณะที่การผลิตโปรตีนจากพืช หรือใบยาสูบนั้น ไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยี เมื่อเรามีพันธุ์ต้นไม้ และใส่รหัสพันธุกรรมเข้าไป ก็จะสามารถสร้างโปรตีนขึ้นมาได้ เป็นการสร้างโปรตีนที่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า อย่างที่บริษัท ใบยา จะสามารถสร้างโปรตีนจากใบยาสูบได้เพียง 10 วัน ซึ่งหากนำไปผลิตเป็นวัคซีนจะได้ปริมาณราว 10,000 โดสต่อเดือน ดังนั้น การพัฒนาวัคซีนจึงน่าจะมีความหลากหลาย มีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทางเลือก เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดในอนาคต” รศ.ดร.วรัญญู กล่าว

รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ

รศ.ดร.วรัญญู กล่าวว่า จากความสำเร็จในการนำโปรตีนมาพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ผ่านการทดลองในสัตว์ทดลอง ทั้งหนูและลิงแล้ว โดยทีมวิจัยได้นำโปรตีนจากไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิดไปทำให้บริสุทธ์ และนำไปฉีดในหนูและลิง ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 3สัปดาห์ พบว่ามีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งนำเลือดหนูไปทดสอบ ซึ่งพบว่ายับยั้งเชื้อไวรัสในระดับหลอดทดลองได้ และเมื่อทดสอบในลิง ผลของลิงก็พบว่ากระตุ้นแอนติบอดีในการติดเชื้อไวรัสได้เช่นกัน ขั้นต่อไปจะมีการทดลองความปลอดภัยในสัตว์ทดลองอีก ในส่วนของการผลิตเพื่อทดสอบในมนุษย์นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นหารือกับทางมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อผลิตในโรงงานของมหิดลที่เป็นไพล็อตแพลน

“ล่าสุดสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เข้ามาช่วยในการประสาน เพื่อหาแหล่งในการผลิตวัคซีน เพื่อทดลองในมนุษย์ ซึ่งประสานกับทางมหาวิทยาลัยมหิดล ในการผลิตเป็นไพล็อตแพลนต่อไป ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในการขออนุญาตการดำเนินการผลิตอีกด้วย” รศ.ดร.วรัญญู กล่าว

เป็นอีกข่าวดีและเป็นความหวังของคนไทย ที่จะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ...