ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ร่วมโครงการ กาวี โคแวค ขององค์การอนามัยโลก หาวัคซีนป้องกันโควิด มี 10 บริษัทคาดลงนาม ก.ย. นี้ หากที่ไหนสำเร็จก่อน สมาชิกที่เหลือก็จะได้รับวัคซีนตัวนั้นด้วย ส่วนวัคซีนที่ไทยพัฒนาคนละส่วน

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวระหว่างรับมอบเครื่องมือแพทย์จากกรมศุลกากร อาทิ ถุงมือยาง เจลล้างมือแอกอฮอล์ ว่า วันนี้แม้ว่าจะสถานการณการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะไม่มีรายงานการติดเชื้อในประเทศแล้ว แต่ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมเอาไว้ตลอด การ์ดจะตกไม่ได้เลย เพราะว่าสถานการณ์การระบาดในประเทศเพื่อนบ้านตอนนี้ค่อนข้างหนัก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในการต่อสู้กับโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขได้รับการสนับสนุนจากกรมศุลกากรมาตลอด โดยนำเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ที่ยึดได้จากกลุ่มคนที่ลักลอบนำเข้าแบบหนีภาษี แทนที่จะทำลายทิ้งก็นำมาให้กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ประโยชน์ รอบนี้ก็เช่นกัน อุปกรณ์เหล่านี้ยังมีความจำเป็น และยังสามารถนำไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

ด้าน พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตอนนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญการผลิตวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งกระทรวงหวังว่าจะให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้รับวัคซีนหากมีการผลิตได้ไม่ว่าจะมีกี่แนวทางที่ในโลกทำได้ประเทศไทยจะต้องมีส่วนร่วมในการได้มาซึ่งวัคซีนนั้น วันนี้มีการวางแผนเพื่อการมีวัคซีนใช้อยู่ 3 แนวทางคือ 1.การพัฒนาวัคซีนในประเทศ 2. การเจรจาความร่วมมือในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด และวิธีที่ 3 การลงนามความร่วมมือกับกาวี โคแวค ซึ่งเป็นโครงการขององค์การอนามัยโลก โดยจะมีบริษัทเข้าร่วมโครงการ 10 แห่ง ซึ่งจะมีการค้นคว้าพัฒนาวัคซีน หากที่ไหนสำเร็จก่อน สมาชิกที่เหลือก็จะได้รับวัคซีนตัวนั้นด้วย

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างสัญญา และเข้าเป็นสมาชิก คาดว่าจะสามารถทำสัญญากันได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยเราไปในนามของรัฐบาลไทย ส่วนงบประมาณยังไม่ทราบรายละเอียดว่าต้องใช้จำนวนเท่าไหร่ ต้องอยู่ที่การเจรจา แต่ของไทยเองคาดว่าน่าจะใช้งบประมาณจากงบที่ครม.เพิ่งอนุมัติมาให้ 1,000 ล้านบาท “ โฆษก สธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแล้ววัคซีนที่หน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทยดำเนินการอยู่นั้น หากสำเร็จก็ต้องแบ่งให้สมาชิกที่ร่วมโครงการขององค์การอนามัยโลกด้วยหรือไม่ พญ.พรรณประภา กล่าวว่า ไม่ต้อง ที่ประเทศไทยพัฒนาขึ้นมาหากสำเร็จก็ใช้ในประเทศไทย เพราะเป็น 1 ในแผนการมีวัคซีนใช้ภายในประเทศอยู่แล้ว แต่โครงการขององค์การอนามัยโลก เกิดขึ้นมาเพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้เข้าถึงวัคซีนเหมือนๆ กับประเทศที่ร่ำรวย

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เมียนมา มียอดป่วยสะสมที่ 938 ราย เฉพาะวันนี้ (3 ก.ย.) มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 76 ราย เสียชีวิต 6 ราย มากที่สุดในรัฐยะไข่ ซึ่งพื้นที่แถบตะวันตกของเมียนมาถือว่าอยู่ห่างไกลจากพรมแดนไทยมาก จึงไม่อยากให้วิตกกังวลมาก ตอนนี้แถบชายแดนไทยเองมีความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนกวดขันป้องกันอย่างเข้มงวด ซึ่งจากที่จับกุมคนลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้น ผลการตรวจยังไม่พบว่ามีใครติดโควิดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ขอคนไทยร่วมมือกันอย่าอำนวยความสะดวกให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขอให้งดรับแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาแบบผิดกฎหมายด้วย เพราะเสี่ยงนำเชื้อเข้ามาในประเทศ และขอความร่วมมือประชาชนในการสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า การเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในวันหยุดยาวนี้