ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลชี้ ต้องชื่นชม สปสช.และกรมราชทัณฑ์ที่ใส่ใจตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจนนำไปสู่การตรวจพบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว เป็นกรณีศึกษาที่ดีในบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานรัฐเพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด--19 ในทัณฑสถานบําบัดพิเศษกลางเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับ กรมราชทัณฑ์ ใส่ใจกับกระบวนการคัดกรองเฝ้าระวังในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในเรือนจำ โดยสนับสนุนให้คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าไปคัดกรองเฝ้าระวังผู้ต้องขังรายใหม่ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 เป็นต้นมา โดยได้เข้าไปตรวจหาเชื้อผู้ต้องขังแรกรับทุกสัปดาห์ ด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งที่ผ่านมาทำการตรวจหลายพันรายแต่ไม่พบเชื้อ

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างส่งตรวจตามรอบปกติจากผู้ต้องขังรายใหม่ทั้งหมด 76 ราย มี 1 รายที่ผลตรวจเป็นบวก เมื่อทำการตรวจซ้ำก็ยังได้ผลบวกเช่นเดิม เป็นการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 จริง จึงได้รายงานกรมควบคุมโรคในคืนวันที่ 2 ก.ย.2563 ทางกรมควบคุมโรคก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึงกรมราชทัณฑ์ ทำให้ภายในระยะเวลาไม่กี่นาที กรมราชทัณฑ์สามารถปฏิบัติตาม Protocal ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการแยกกักตัว การนำผู้ป่วยความเสี่ยงสูงไปอยู่ที่โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ ฯลฯ ส่วนทีมสอบสวนโรคก็กำลังดำเนินการสอบสวนโรคอยู่

"กรณีนี้ ต้องยกความดีให้กับ สปสช. ที่ให้ความสำคัญ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในหลายเดือนที่ผ่านมา สปสช.มีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมสนับสนุนในมิติต่างๆ เช่น การสนับสนุนรักษาพยาบาลคนที่ติดเชื้ออย่างเต็มที่ ส่วนคนที่ไม่ติดเชื้อก็ส่งเสริมการคัดกรองการเฝ้าระวังโรคทั้งในกลุ่มคนทั่วๆ ไปและกลุ่มคนชายขอบ เป็นเรื่องสำคัญในการเฝ้าระวังพื้นที่เปราะบางเนื่องจากถ้ามีการติดเชื้อขึ้นมาคนหนึ่งในพื้นที่ที่มีความแออัดขนาดนี้ ก็อาจกลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ของการระบาดได้เลยทีเดียว ดังนั้น การเจอผู้ป่วยรายนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีมากๆ ที่สะท้อนว่ากรมราชทัณฑ์และ สปสช. ใส่ใจเฝ้าระวัง ประเทศไทยโชคดีมากที่มีหน่วยงานรัฐบูรณาการทำงานร่วมกัน มีรัฐบาลให้การสนับสนุน ทำให้เมื่อเจอผู้ป่วยรายหนึ่ง เราสามารถจำกัดพื้นที่สอบสวนโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับทั่วโลก" ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าว

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวต่อไปว่า ในภาพรวมการตรวจคัดกรองหลังจากนี้ ได้มีการหารือกันว่าในสถานการณ์ขณะนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการระบาดอย่างหนัก เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากในบางทัณฑสถาน มีผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามชาติเยอะ มีโอกาสสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ดังนั้นจึงมีการหารือเพื่อปรับแผนในเรื่องความเข้มข้นหรือรอบจำนวนการตรวจให้ครอบคลุมผู้ต้องขังทุกราย โดยจะต้องดำเนินการให้กว้างกว่านี้

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม ยังมีข้อคิดเห็นฝากถึงประชาชน โดยเน้นย้ำให้ช่วยกันดูแลป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง ลดการสัมผัสต่างๆ ส่วนศักยภาพการตรวจยืนยันเชื้อนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งเดินหน้าจนปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการทั่วประเทศมากกว่า 220 แห่ง ต่างจากหลายเดือนก่อนที่ประสิทธิภาพการตรวจยังไม่เยอะ แต่ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการรองรับในทุกจังหวัด ส่วนกระบวนการตรวจคัดกรอง ถ้าเจอผู้ป่วยต้องจำกัดพื้นที่ให้ได้ ดังนั้นต่อไปอาจเห็นการล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่พบเชื้อเพื่อสอบสวนโรค เชื่อว่าจะเป็นมาตรการที่ทำให้ประเทศไทยสามารถจำกัดขอบเขตการระบาดระลอก 2 ได้ดีในระดับหนึ่ง

"ทั้ง 3 อย่างนี้จะเกิดได้ต้องมาจากนโยบายและการสนับสนุนของรัฐบาล หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานอกเหนือจากหน่วยงานที่อยู่หน้าด่านของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ถ้ามองเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนด้านต่างๆ ก็เป็นผลงานที่สำคัญของ สปสช. คือทำให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการคัดกรอง การรักษาพยาบาล รวมถึงการเฝ้าระวังโดยไม่จำกัดว่าเป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ด้วย 4 ปัจจัยนี้ เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตการณ์โควิดในรอบนี้ไปได้อย่างแน่นอน" ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าว