ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยบุคลากรรายใดเคยถูกเรียกรับเงินแลกบรรจุโควิด ร้องเรียนด่วน! ขยายผลกรณีตั้งสอบกก.วินัยร้ายแรง ข้าราชการ ซี 7 หลังเรียกรับเงินบรรจุ 5 แสนบาท  

เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีมีบุคลากรสาธารณสุขเรียกรับเงิน 5 แสนบาท เพื่อแลกกับการช่วยเหลือเรื่องการบรรจุข้าราชการรุ่นสู้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยอ้างโควตารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการเรียกรับเงินจริงแลกกับการช่วยเหลือในการบรรจุข้าราชการจริง จำนวน 1 ราย โดยพบเคสดังกล่าวเกิดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา

“แม้เรื่องนี้ความผิดยังไม่เกิด แต่ก็สร้างความเสียหาย โดยเฉพาะการแอบอ้างชื่อของท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และความเสียหายกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โคราช ดังนั้น ขณะนี้ทางนิติกรได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน และเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ซึ่งโทษความผิดวินัยร้ายแรง มีตั้งแต่ปลดออก หรือไล่ออก ” นพ.ยงยศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนี้จำเป็นต้องรอผลทางคดีก่อนหรือไม่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาผลการสอบวินัยร้ายแรง นพ.ยงยศ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เรื่องทางคดีจะเป็นส่วนคดี แต่ในเรื่องระเบียบวินัยทางราชการ ถือว่าผิดระเบียบข้าราชการ สามารถตั้งสอบสวนวินัยร้ายแรง และดำเนินการสอบได้ตามกระบวนการ

เมื่อถามว่าระหว่างโทษไล่ออก กับปลดออก อันไหนร้ายแรงกว่ากัน นพ.ยงยศ กล่าวว่า ไล่ออกย่อมร้ายแรงกว่า เพราปลดออกยังได้เงินบำนาญรายเดือน แต่ไล่ออกไม่ได้อะไรเลย แต่อย่างไรให้รอผลการสอบสวนวินัยร้ายแรงจากทางพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาภายใน 180 วัน แต่เร็วสุดสามารถดำเนินการได้เพียง 30 วัน

ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงพบว่ามีมูล และมีหลักฐานการสนทนาผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีการเรียกรับเงินจำนวน 5 แสนบาทเพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้พี่สาวของพยาบาลได้รับการบรรจุข้าราชรุ่นสู้โควิด ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด เบื้องต้นพบว่าผู้ที่เรียกรับเงิน เป็นชายอายุราวๆ 40 ปี เป็นข้าราชการระดับ 7 (ซี7) ชำนาญการ ขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว

นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า โดยที่จะต้องพิจารณา คือ ผู้ที่เรียกรับเงินนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้พิจารณาการบรรจุข้าราชการรุ่นสู้โควิดหรือไม่ หากเป็นกรรมการด้วย จะเข้าข่ายการทุจริตในหน้าที่ ผิดตามมาตรา 157 ซึ่งมีโทษหนัก ทั้งไล่ออกจากราชการ และจำคุก แต่หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบรรจุข้าราชการ ก็จะผิดฐานประพฤติชั่วร้ายแรง ซึ่งตามมติครม. พ.ศ.2536 กำหนดเกี่ยวกับโทษว่า ให้ไล่ออก และดำเนินคดีอาญาต่อไป

“ตามระเบียบการสอบวินัยจะใช้เวลา 180 วัน แต่กรณีนี้คาดว่าจะใช้เวลาเร็วประมาณ 30 วัน เพราะมีหลักฐานชัดเจน ระหว่างนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาได้ทำการย้ายผู้ที่เรียกรับเงินไปอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อน ส่วนพยาบาลที่ถูกเรียกรับเงิน ย้ายไปสถานพยาบาลอื่นก่อนเพื่อความสบายใจ” นพ.พงศ์เกษม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นมีการตรวจสอบย้อนหลัง ว่า รายนี้มีการกระทำความผิดเรียกรับเงินกับรายอื่นๆด้วยหรือไม่ นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า ต้องอยู่ที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ ว่าจะมีการขยายผลหรือไม่ แต่หากบุคลากรรายใดเคยถูกเรียกรับเงินมาก่อนสามารถแจ้งร้องเรียนเข้ามาได้ เพื่อจะได้ขยายผลต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง