ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus พาชมห้องปฏิบัติการวิจัยพัฒนาใบยาสูบ สู่โปรตีนผลิตวัคซีนโควิด-19 เตรียมทดสอบหนูแฮมสเตอร์ หลังจากเบื้องต้นทดสอบในหนูและลิง พร้อมทั้งประสานขออนุญาต อย. ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์วิจัย

ตามที่ก่อนหน้านี้ได้นำสนอข่าวผลงานของนักวิจัย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ในการใช้เทคนิคการผลิตโปรตีนจากใบพืช ซึ่งในที่นี้ใช้ใบยาสูบ ที่ไม่ใช่ใบยาสูบมีนิโคตินสูงในการนำมาสูบกัน  โดยเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่มีการใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก และไทยได้นำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์กรณีเกิดการระบาดระลอก 2 เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การระบาดโควิดอีกทางหนึ่ง

ล่าสุดผู้สื่อข่าว “Hfocus” มีโอกาสได้ชมห้องปฏิบัติการ(แล็บ) วิจัยและพัฒนาโปรตีนจากใบพืชถึงแล็บ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เพื่อให้ทราบถึงการใช้เทคนิคใส่รหัสพันธุกรรมในใบพืช ซึ่งเป็นใบยาสูบชนิดหนึ่ง ออกมาเป็นโปรตีนเพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และแอนติบอดีในการยับยั้งเชื้อไวรัส...

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CEO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และ รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CTO และ Co-founder บริษัท ใบยา ฯ ได้พาชมห้องเพาะเลี้ยงใบยาสูบ พร้อมทั้งอธิบายถึงการพัฒนาผลงานดังกล่าว

 

เริ่มจาก รศ. ดร.วรัญญู เล่าถึงที่มาของการใช้ใบยาสูบ ว่า ใบยาสูบชนิดนี้ ไม่ใช่ใบยาสูบที่นักสูบชาวไทยคุ้นเคย เพราะมีปริมาณนิโคตินต่ำ จึงไม่ใช้สูบแบบยาสูบ แต่สปีชีส์ N. benthamiana เป็นใบพืชตระกูลยาสูบ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยเริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ด ในเวลาเพียงไม่เกิน 1 เดือนก็จะออกใบใหญ่ ข้อดีของพืชชนิดนี้คือโตเร็ว มีใบเยอะ ใบของยาสูบชนิดนี้จะมีขนาดบาง จึงสามารถส่งถ่ายยีนที่ต้องการเข้าไปได้ง่าย N. benthamiana จึงเหมาะสมกับการเตรียมพร้อมสำหรับโรคอุบัติใหม่ เพราะผลิตโปรตีนได้ปริมาณสูงที่สุดในระยะเวลาที่สั้นที่สุด

"สำหรับกระบวนการผลิตโปรตีนนั้น ทางทีมได้ออกแบบชิ้นส่วนโปรตีนในรูปร่างที่ต้องการแล้วจึงใส่ยีนเข้าไปในพืช เพื่อให้พืชผลิตโปรตีนตัวนี้ออกมา หลังจากนั้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ ก็สามารถตัดใบสกัดโปรตีนที่ออกแบบให้พืชผลิต แล้วใช้กระบวนการเพื่อทำให้โปรตีนบริสุทธิ์แยกออกมาจากโปรตีนอื่น ๆ ของพืช แล้วจึงนำโปรตีนมาศึกษาลักษณะโครงสร้างก่อนที่จะเอาไปใช้ทดสอบวัคซีน หากนับตั้งแต่วันที่ได้ยีนที่ออกแบบ ใช้เวลา 10 วัน ก็ได้ต้นแบบ แล้วในเวลาไม่ถึง 1 เดือนก็สามารถนำไปทดลองในสัตว์ทดลองได้" รศ. ดร.วรัญญู กล่าว

ด้านผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวถึงการทดสอบในสัตว์ทดลอง ว่า เราทดสอบในหนูเสร็จไปเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว จากนั้นจึงทดสอบในลิง ในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิด เราฉีดไป 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วปรับโดสให้เหมาะสม พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จับกับไวรัสได้ จากการทดสอบเข็มแรกภูมิขึ้นแต่ยังไม่สูงมาก จึงต้องกระตุ้นด้วยเข็มที่สอง จากนั้นก็ตรวจภูมิ อวัยวะ และค่าต่าง ๆ ภายในร่างกายเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีน ตอนนี้ในร่างกายของสัตว์ทดลองก็ยังปลอดภัยดี

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา อธิบายเพิ่มว่า หลังจากนี้จะมีการทดสอบในหนูแฮมสเตอร์ สำหรับลิงเราจะมาดูว่าภูมิคุ้มกันตกหรือไม่อีก 6 เดือน และอาจฉีดไวรัสเข้าไปเพื่อดูว่า หากภูมิตกแล้วไวรัสเข้าไปในร่างกายของลิงจะยังสามารถป้องกันไวรัสได้อยู่หรือไม่ อย่างไร และหลังจากนี้ต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทำตามกฎเกณฑ์ และยังต้องหาพื้นที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตวัคซีนด้วยใบพืชแห่งแรกในประเทศไทย และแห่งแรกในอาเซียน เพื่อให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ เมื่อทดลองในสัตว์ทดลองแล้วเสร็จ จะนำไปสู่การเตรียมการทดลองในคนต่อไป

“จากกระบวนการต่างๆ ตั้งเป้าการทดสอบในคนไม่เกินกลางปี 2021 ซึ่งเริ่มแรกคาดว่า ต้องเตรียมวัคซีนไว้ประมาณแสนโดส ก่อนจะเดินหน้าผลิตให้เพียงพอต่อไป และหากการทดสอบในมนุษย์ช่วงกลางปีหน้าเป็นไปอย่างที่ต้องการ คาดว่าไม่เกินปลายปี คนไทยน่าจะได้ใช้วัคซีนโควิด-19 ” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวทิ้งท้าย

อีกทางเลือกการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ฝีมือคนไทย...

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ

รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ