ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาฯอย.ลั่นนักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เตรียมเอกสารให้พร้อมกรณีสามารถทดลองในมนุษย์เพื่อความรวดเร็วในขั้นตอนการขออนุญาต ขณะที่ม.อ็อกซ์ฟอร์ดเดินหน้าทดลองวัคซีนในมนุษย์ต่อ

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงแผนการกระจายทรัพยากรลงไปยังพื้นที่เพื่อควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ว่า ขณะนี้มีชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) 1.4 ล้านชุด หน้ากาก N95 จำนวน 2.4 ชิ้น และหน้ากากทางการแพทย์ 43 ล้านชิ้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรงงานผลิตหน้ากากเพิ่มจำนวนจาก 9 แห่ง เป็น 45 แห่ง กำลังการผลิตวันละ 3.4 ล้านชิ้น เพราะฉะนั้นเพียงพอสำหรับบุคลากรการแพทย์และประชาชนทั่วไป

สำหรับยารักษาโรคขณะนี้มีฟาวิพิราเวียร์ 5.9 แสนเม็ด แม้ว่ายาล็อตนี้จะหมดอายุประมาณ เม.ย. 64 แต่ยังไม่จำเป็นต้องสั่งเข้ามาเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตยานี้เพิ่มมากขึ้น จากที่มีแค่ประเทศญี่ปุ่น และจีน ก็มีผู้ผลิตจากอินเดีย หลายบริษัท ซึ่งขณะนี้ อย.ได้ขึ้นทะเบียนให้นำเข้า และจำหน่ายในประเทศไทย 2 บริษัท เพราะฉะนั้นถ้าสั่งไปแล้วก็สามารถส่งยาเข้ามาได้ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนยาเรมเดซิเวียร์ มีอยู่ในสต็อก 400 หลอด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ฟาวิพิราเวียร์เป็นหลัก ทั้งนี้ ทั้งยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เราเตรียมความพร้อมเอาไว้นั้นเพียงพอสำหรับรองรับกรณีระบาดมากกว่า2-3 เท่า

ส่วนความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดในไทย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และ บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม เตรียมเอกสารให้พร้อม หากสามารถทดลองในมนุษย์ได้แล้วจะได้ไม่ล่าช้า ขณะที่ความคืบหน้าวัคซีนทั่วโลก โดยเฉพาะแอสตร้าเซเนก้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ชะลอการวิจัยเพราะเกิดปัญหาการทดลองในมนุษย์เฟส 3 ผู้ได้รับวัคซีนเป็นอัมพาตนั้น ทราบว่าขณะนี้กลับมาเดินหน้าทดลองต่อแล้ว