ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ข่าวปลอมทำให้คนรับสารได้รับข้อมูลผิดๆ ไป ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เราทราบกันดี แต่หลังจากนั้นล่ะ? คำถามนี้อาจจะยากสักหน่อยเพราะต้องมีการติดตามผลของการรับข่าวสารผิดๆ ซึ่งต้องใช้การลงแรงทำวิจัยพอสมควร แต่เป็นเรื่องดีที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งทุ่มเทศึกษาผลกระทบของข่าวปลอมต่อตัวบุคคลกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลของการรับข่าวปลอมในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นช่วงที่มีข่าวปลอมระบาดมากที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง

              มีผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Tropical Medicine and Hygiene โดยคณะนักวิจัยที่นำโดย Md Saiful Islam ได้ศึกษาผลกระทบของข่าวปลอมในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะ งานวิจัยนี้มีชื่อว่า "COVID-19–Related Infodemic and Its Impact on Public Health: A Global Social Media Analysis" (การระบาดของข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับ COVID-19 และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน: การวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก)

              ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกับคำศัพท์ใหม่ที่ทีมวิจัยนำมาใช้คือคำว่า Infodemic หมายถึง "ข้อมูลที่มีมากเกินไป ปะปนกันระหว่างส่วนที่ถูกต้องและส่วนไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้ผู้คนหาแหล่งข้อมูลและคำแนะนำที่น่าเชื่อถือได้ยากในเวลาที่จำเป็น  Infodemic มีลักษณะคล้ายกับข่าวลือ, การตีตราบาป และทฤษฎีสมคบคิดในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หากจะแปลเอาใจความมันหมายถึงการระบาดของข่าวปลอมในช่วงที่เกิดโรคระบาดนั่นเอง

              การระบาดของข่าวปลอมในช่วงที่เกิดโรคระบาดมีอันตรายมาก เพราะมีตัวอยางที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการระบาดของโรคครั้งสำคัญๆ เช่น ในระหว่างการระบาดของโรคอีโบลาที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปี 2562 ข้อมูลที่ผิดมีผลทำให้เกิดความรุนแรงและความไม่ไว้วางใจกัน จนกระทั่งนำไปสู่โจมตีผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขเพราะลือกันว่าคนกลุ่มนี้เป็นตัวแพร่เชื้อ ทั้งๆ ที่ทีมสาธารณสุขทำงานแทบเป็นแทบตายเพื่อควบคุมโรคและรักษาผู้ติดเชื้อ

              จากรายงาน 2,276 รายการ มีถึง 1,856 เรื่องที่เป็นเป็นเท็จ คิดเป็นสัดส่วนถึง 82 %  มีที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องแค่ 204 เรื่อง หรือแค่ 9 % ในจำนวนนี้มีเนื้อหาชี้นำให้เข้าใจผิด 176 เรื่องคิดเป็น 8 %  และอีก 31 เรื่องยังไม่ได้รับการพิสูจน์ซึ่งคิดเป็น 1 % บรรดาข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดส่วนใหญ่ระบุว่ามาจากอินเดีย, สหรัฐอเมริกา, จีน, สเปน, อินโดนีเซียและบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อในวงกว้างและรุนแรง

              จากการศึกษาพบว่า ในบรรดาข้อมูลที่ทำการสำรวจมามีจำนวน 24 % ที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย, การแพร่เชื้อและการเสียชีวิต อีก 21 % เกี่ยวกับการแทรกแซงเพื่อควบคุมการระบาด อีก 19 % ด้วยการรักษาและบำบัด อีก 15 % เกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรครวมถึงที่มา และ 1 % เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ที่เหลือ 20 % เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดแต่เมื่อสรุปโดยรวมแล้ว "ข่าวลือ" เป็นรูปแบบของข้อมูลที่แพร่หลายที่สุด

              ข่าวลือส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยการแพร่เชื้อและการเสียชีวิตของ COVID-19 ตามด้วยการแทรกแซงที่เน้นมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ตัวอยางเช่น ข้อมูลที่อ้างว่าการกินกระเทียมช่วยป้องกัน/รักษา COVID-19 หรือการแนะให้ทำคอให้ชุ่มเข้าไว้ หรือที่บอกว่าให้หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และการอ้างถึงความสำคัญของการรับประทานวิตามิน C และ D เพื่อช่วยป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวลือเรื่องการฉีดพ่นคลอรีนสามารถป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้

              แต่ความเชื่อผิดๆ เหล่านี้เป็นอันตรายกับผู้ที่เชื่อถือมันจริงๆ จังๆ และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกลุ่มแรกๆ คือ บุคคลากรด้านสาธารณสุข โดยในหลายประเทศบุคคลากรด้านสาธารณสุขถูกรังแกหรือถูกทำร้ายร่างกายหรือเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากเจ้าของบ้านเช่าและเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่แพทย์ที่มีเชื้อสายเอเชียถูกรังแกและเหยียดหยามจากคนเชื้อสายอื่นในประเทศตะวันตก ผู้ทำวิจัยพบว่ามีกรณีความรุนแรงที่เกิดจากการสร้างตราบาปให้ผู้อื่น 26 กรณี ในจำนวนนี้มีกรณีหนึ่งเป็นชายชาวอินเดียที่ฆ่าตัวตายเพราะได้รับข้อมูลผิดๆ เรื่องการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพระากลัวว่าจะทำให้สมาชิกในครอบครัวติดโรคไปจากเขา

              อีกหนึ่งตัวอย่างของอันตรายถึงชีวิตจากข่าวลือคือการเชื่อว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูงสามารถฆ่าเชื้อในร่างกายและฆ่าเชื้อไวรัสได้ ข่าวลือนี้แพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของโลกและทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเพราะบริโภคแอลกอฮอล์ รวมแล้ว จากข้อมูลที่ผิดนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 800 คน ในขณะที่ 5,876 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและ 60 คนมีอาการตาบอดสนิทหลังจากดื่มเมทานอลเพื่อพยายามรักษาโคโรน่าไวรัส นี่คือตัวเลขเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้เท่านั้น

              นอกจากงานวิจัยชิ้นนี้แล้วยังมีสื่อมวลชนที่สืบสวนผลกระทบจากข่าวปลอมที่กี่ยวข้องกับการระบาดของโคโรนาไวรัสเช่นกัน ตัวอย่างเช่น BBC

              BBC รายงานว่าในอิหร่านมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนจากพิษแอลกอฮอล์ หลังจากมีข่าวลือเกี่ยวกับผลการรักษาโคโรนาไวรัสโดยใช้แอลกอฮอล์ เฉพาะแค่ปลายเดือนเมษายนมีผู้เสียชีวิตในอิหร่านด้วยสาเหตุนี้ถึง 796 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นผลมาจาก "ข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดีย"

              แต่สาเหตุที่แท้จริงน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่อิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลามที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดโดยสั่งห้ามขายและบริโภคของมึนเมา แต่ยังมีผู้ฝ่ายฝืนด้วยการต้มเหล้าเถื่อนขายโดยผสมสารเคมีบางอย่างเพื่อเร่งปฏิกริยา ดังนั้น กรณีของอิหร่านจึงอาจไม่ใช่แค่ความเชื่อผิดๆ เรื่องการบริโภคแอลกอฮอล์โดยตรงโดยข่าวข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดีย แต่ยังอาจมาจากการบริโภคเหล้าเถื่อนเพราะเชื่อว่าป้องกันโรคได้ แต่ทางการอิหร่านพยายามปกปิดข้อมูลนี้เพราะเป็นเรื่องน่าอับอาย

              ตัวอย่างเช่น กรณีของเด็กวัย 5 ขวบคนหนึ่งที่ถึงกับตาบอดเพราะถูกพ่อแม่บังคับให้กินเหล้าเถื่อนเพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคระบาดได้

              BBC ยังรายงานปัญหาที่เกิดจากทฤษฎีสมคบคิดด้วยว่าทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเพราะความเชื่อผิดว่าๆ โรคระบาดเป็นเรื่องไม่จริง ตัวอย่างคือกรณีของชาวอเมริกันชื่อ  Brian Lee Hitchens ในมลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งตัวเขากับภรรยาไม่เชื่อเรื่องการระบาดจริงๆ จังๆ โดยเชื่อว่าเป็นเรื่องหลอกลวง เกิดจากสัญญาณ 5G และหากติดเชื้อขึ้นมาก็จะมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น (2)

              สามีภรรยาชาวอเมริกันคู่นี้ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมและไม่สวมหน้ากากอนามัย ในที่สุดเขาและภรรยาก็ติดเชื้อโรค COVID-19 ในที่สุด แต่คราวนี้เขาตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและแบ่งปันประสบการณ์การตกเป็นเหยื่อขาวปลอมของเขาโดยใช้ Facebook เป็นสื่อกลาง ซึ่งในตอนท้ายของโพสต์ของบอกว่า "ลองนึกถึงสิ่งที่ผมพูดไปและถ้าคุณยังต้องออกไปข้างนอกโปรดใช้สติปัญญาและอย่าโง่เขลาเหมือนผม เพื่อสิ่งเดียวกันจะไม่เกิดขึ้นกับคุณเหมือนที่เกิดขึ้นกับผมและภรรยาของผม" (3)

              แต่ถึงแม้วาจะมีตัวอย่างความสูญเสียจากข่าวลือเป็นจำนวนมาก ผู้คนก็ยังปักใจเชื่อข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดกันอยู่ เช่น จากผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันในช่วงเดือนพฤษภาคมพบว่า 28% ของชาวอเมริกันเชื่อว่าบิล เกตส์ (เจ้าของบริษัท Microsoft Corporation และผู้ที่พยายามผลักดันการผลิตวัคซีน COVID-19) พยายามที่จะใช้วัคซีนเพื่ออำพรางการฝังชิปในหมู่ประชากรความเชื่อที่ผิดๆ ทำนองนี้จะบั่นทอนความพยายามในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตและความพยายมที่จะควบคุมโรค เพราะประชาชนจะคิดไปต่างๆ นานาว่าวัคซีนเป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นโดยมีจุดประสงค์ร้ายแอบแฝงและคนจำนวนหนึ่งจะไม่ยอมฉีดวัคซีน (4)

              นี่คือผลกระทบที่ร้ายแรงมากของข่าวปลอมต่อการยุติการระบาดของ COVID-19 เพราะมันจะทำให้มีผู้คนมากมายต้องเสียชีวิตเพราะเรื่องนี้

              แต่อย่างน้อยก็มีเนื่องที่พอจะวางใจได้ในกรณีของประเทศไทย เพราะจากงานวิจัยที่อ้างถึงพบว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยมาจาก Infodemic จากสถิติในรูปกราฟฟิกของงานวิจัยพบว่าประเทศไทยมีการแพร่หลายของข่าวลือแต่มีน้อยมาก แต่เราจะต้องจับตาดูสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดของโคโรนาไวรัสรุนแรงที่สุดและมีการระบาดของ Infodemic รุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย ทั้ง 2 ประเทศถูกรบก้วนด้วยทฤษฎีสมคบคิดมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ใช่กลุ่มที่เชื่อง่ายเท่านั้นแต่ยังมีความลังเลสงสัยมากๆ ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการรักษาที่ถูกต้องและบุคคลากรทางการแพทย์ 

 

 

อ้างอิง

1. Islam, Md Saiful et al. "COVID-19–Related Infodemic and Its Impact on Public Health: A Global Social Media Analysis". The American Society of Tropical Medicine and Hygiene. (10 August 2020). https://doi.org/10.4269/ajtmh.20-0812

2. Spring, Marianna. "Coronavirus: The human cost of virus misinformation". BBC. (27 May 2020).

3. Brian Lee Hitchens. In Facebook. (13May 2020). Retrieved 15 August 2020, from https://www.facebook.com/brianlee.hitchens/posts/3241584752540091

4. Coleman, Alistair. "'Hundreds dead' because of Covid-19 misinformation". BBC. (12 August 2020).