ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดี คร.เผยเคสเด็กเมียนมา ติดเชื้อหลังกลับจากไทย อยู่ระหว่างขอข้อมูล เบื้องต้นพบว่าต้นทางมาจากอยุธยา แต่รายละเอียดยังไม่ชัด รอสอบสวนเพิ่ม ย้ำจ.อยุธยายังไม่ต้องมีมาตรการอะไรพิเศษ

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกยังมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ค่อนข้างมาก ส่วนสถานการณ์ในเอเชียขณะนี้พบว่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียยังมีอัตราป่วยต่อ 1 ล้านประชากรที่สูงที่สุด ส่วนอินเดียอัตราป่วยต่อ 1 ล้านประชากรลดลง แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงอยู่ ที่น่าห่วงคือสถานการณ์การระบาดในเมียนมา ซึ่งยังควบคุมไม่ได้ ถือเป็นความเสี่ยงมากสำหรับประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้ทั้ง 10 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับเมียนมามีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น รวมถึงจังหวัดที่มีการจ้างงานแรงงานเมียนมาจำนวนมากต้องมีการเฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และปอดอักเสบในพื้นที่ และต้องขอร้องผู้ประกอบการไม่รับแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วย โดยขอให้อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ในการเป็นหูเป็นตาด้วย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีเด็กเมียนมาอายุ 2 ขวบ ติดเชื้อหลังเดินทางกลับจากประเทศไทย ถึงเมียนมาวันที่ 4 ก.ค. เข้ารับการตรวจเชื้อในวันที่ 10 ก.ย. ผลออกว่าติดเชื้อในวันที่ 13 ก.ย. นั้นอยู่ระหว่างขอข้อมูลไปยังทางการเมียนมา แต่เบื้องต้นพบว่าต้นทางมาจากจ.อยุธยา แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดว่าไปอยู่ที่จุดไหน หรือมาทำอะไร ต้องรอข้อมูลเพื่อสอบสวนโรคต่อไป ส่วนที่มีคำถามว่าถ้าเด็กรายนี้กลับจากไทยถึงเมียนมาวันที่ 4 ก.ย. ตรวจเจอเชื้อวันที่ 10 ก.ย. ก็เป็นไปได้ที่จะติดเชื้อจากภายในประเทศเมียนมาเอง แต่ถ้าคิดเช่นนั้นคงเป็นการประมาทเกินไป ดังนั้น ต้องรอข้อมูลจากเมียนมาเพื่อสอบสวนโรคต่อไป ตอนนี้ที่จังหวัดอยุธยายังไม่ต้องทำมาตรการอะไรเป็นพิเศษ

“แม้จะมีคนออกมาพูดว่าการระบาดระลอก 2 รุนแรงกว่าระลอกแรก แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่าจะรุนแรงกว่ารอบแรก ซึ่งการที่ระลอก 2 จะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถช่วยกันควบคุมโรคได้หรือไม่ มาตรการที่เราทำ การ์ดเรายกสูงแค่ไหน ซึ่งจำเป็นต้องทำทุกฝ่ายทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน และสามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป เพื่อทำให้สถานการณ์ปกติโดยเร็วโดยไม่กระทบกับเศรษฐกิจ สังคมมากเกินไป”นพ.ธนรักษ์ กล่าว และว่า ส่วนมติครม. ที่ให้นักท่องเที่ยวระยะยาวเข้ามาเที่ยว โดยต้องกักตัวก่อน 14 วันนั้น ก็ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงว่าจะนำเชื้อจากนอกประเทศเข้ามาแต่อย่างใด เพราะเหมือนกับที่มาตรการที่ทำอยู่ตอนนี้เพียงแต่ขยายกลุ่มเพิ่มเท่านั้น

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้ในหลายๆ ที่ พบว่าหลังรับเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการได้ตั้งแต่ 4-5 วัน หรือยาวนานไปจนถึง 14 วัน อย่างไรก็ตามการตรวจสารพันธุ์กรรมเชื้อฯ นั้นเจอได้ตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังมีอาการ แต่ส่วนใหญ่ในช่วง 9 วันนั้น เป็นเชื้อที่ยังมีชีวิต สามารถแพร่โรคได้ และตั้งแต่วันที่ 10 เป็นต้นไป ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อที่ตายแล้ว หรือซากเชื้อฯ ที่ไม่สามารถแพร่โรคได้ ส่วนกรณีพบว่ามีคนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยและตรวจเจอสารพันธุ์กรรมของเชื้อฯ นั้นเมื่อสอบสวนกลับไปก็พบว่าเคยติดเชื้อมาก่อน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีการระบาดไปทั่วโลก

ดังนั้นการจะรู้ว่าคนนั้นเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง ก็ต้องมีการตรวจหาภูมิคุ้มกันถ้ามีภูมิคุ้มกันก็แปลว่าเคยติดเชื้อมาแล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการติดเชื้อซ้ำในระยะ 3-4 เดือน เพราะมีรายงานพบอยู่ประมาณ 2-3 ราย และยังพบด้วยว่าการติดเชื้อซ้ำนั้นเป็นคนละสายพันธุ์กับตัวที่เคยติดมาก่อน ดังนั้นขณะนี้ตนได้กำชับทีมระบาดวิทยาว่าในการลงพื้นที่สอบสวนโรค นอกจากเก็บเชื้อในลำคอแล้วให้เก็บตัวอย่างเลือดมาตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วย เพื่อจะได้ทราบว่ามีใครเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่