ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.มงกุฎวัฒน์ เผยแนวคิดแก้ปัญหาคลินิกชุมชนอบอุ่น รับผู้ป่วยบัตรทองหลังรับผลกระทบกว่าล้านคน เหตุ สปสช.พบทุจริต ยกเลิกคู่สัญญา เตรียมตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม นำร่อง 17 แขวง พื้นที่กทม.

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าวถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจพบคลินิกชุมชนอบอุ่นหลายร้อยแห่งมีการทุจริตค่าตรวจสุขภาพกลุ่มเมตาบอลิกผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทำให้มีการเพิกถอนการเป็นคู่สัญญากับสปสช. ส่งผลให้มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ล้านคน ว่า การตรวจพบทุจริตแล้วดำเนินการเอาผิดนั้นเป็นเรื่องที่ต้อง ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ไม่ควรบุ่มบ่าม ฉับพลัน ควรทำอย่างรอบคอบ มีขั้นมีตอน มีแผนรองรับ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้กรณีที่สปสช.ยกเลิกคลินิกไปหลายร้อยแห่ง มีผู้มีสิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ล้านคน และตนทราบจากข่าวว่าอาจถึงขั้นที่คลินิกในกทม.จะถูกยกเลิกการเป็นคู่สัญญากับสปสช.ทั้งหมด ดังนั้นจะมีประชาชนได้รับผลกระทบอีกมาก

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรณีผู้มีสิทธิบัตรทองที่ได้รับผลจากการยกเลิกการเป็นคู่สัญญากับสปสช. จะมีสถานะสิทธิว่าง ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาที่รพ.ใดก็ได้ที่เป็นคู่สัญญากับทางสปสช. แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันรพ.แต่ละแห่งนั้นต่างก็มีคนไข้ล้นอยู่แล้ว เช่นเดียวกับรพ.มงกุฎวัฒนะ ที่มีผู้ป่วยบัตรทองขึ้นทะเบียนตรงกับรพ.อยู่ 70,000 คน และเป็นหน่วยรับส่งต่อให้กับคลินิกอีก 47 แห่ง รวมผู้ป่วย 2.3 แสนคน ซึ่งเมื่อคลินิกเหล่านี้ถูกยกเลิกสัญญาทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มาเข้ารับการรักษาที่รพ.มงกุฎวัฒนะโดยตรง ทางรพ.ก็รับดูแลทั้งหมด แม้ว่าจะมีเรื่องของความแออัดบ้างก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขเช่นเดียวกัน

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวต่อว่า และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วย และลดความแออัดของรพ.ด้วย ตนจึงมีแนวคิด จะจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นนิติบุคคลที่ไม่หวังกำไร โดยเป็นนิติบุคคลเพื่อเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลคลินิกชุมชนอบอุ่นประจำแขวงในแต่ละเขต ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 2.5 ล้านบาท และให้ผู้มีสิทธิบัตรทองในเขตนั้นๆ เป็นเจ้าของโดยมีหุ้นอยู่คนละ 1 หุ้น หุ้นละ 100 บาท สัดส่วนให้ประชาชนมากกว่า หุ้นอีกส่วนถือโดยแพทย์ผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล โดยรพ.มงกุฎวัฒนะ เป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อ โดยจะนำร่องใน 17 พื้นที่

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานที่จะใช้การเช่าพื้นที่วัด โบสถ์ สุเหร่า ที่ดินว่างเปล่า อาคารพาณิชย์ หรือบ้านพักอาศัย ที่มีพื้นที่ขนาด 160 ตารางเมตร หรือ 40 ตารางวา เพื่อทำเป็นสถานพยาบาล ซึ่งการสร้างสถานที่นั้นจะใช้อาคารตั้งเป็นอาคารชั่วคราว ซึ่งมีแพทย์ พยาบาลพร้อมอยู่แล้ว ในส่วนนี้ไม่มีปัญหา แต่แนวคิดเหล่านี้ตนจะยังไม่ดำเนินการก่อนแล้วค่อยไปขอขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลคู่สัญญากับสปสช.ทีหลังเพราะยอมรับตามตรงว่าไม่มั่นใจในภาครัฐ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง จึงอยากให้ สปสช. กระทรวงสาธารณสุขมีความชัดเจนตรงนี้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศความชัดเจนออกมา ตนคงไม่ประสานไปก่อน เพราะอาจจะทำให้ถูกมองเรื่องของผลประโยชน์

“ดังนั้นหาก สปสช. กระทรวงสาธารณสุข มีความประสงค์อยากแก้ปัญหาตรงนี้ก็สามารถประสานมาได้ และสิ่งสำคัญคือกฎหมายสถานพยาบาล ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อาจจะต้องมีความยืดหยุ่นด้วย และถ้ากระทรวงสาธารณสุข และสปสช.เห็นด้วยในหลักการนี้ก็สามารถดินหน้าได้ในเดือน ต.ค.นี้” พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าว

สำหรับคลินิกที่คาดว่าจะริเริ่มนำร่อง 17 แห่ง เปิดทำการทุกวันๆ ละ 12 ชั่วโมง รองรับผู้มีสิทธิแห่งละ 2 หมื่นคน ดังนี้ 1. คลินิกชุมชนอบอุ่น’แขวงสีกัน เขตดอนเมือง 2. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง 3. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง 4. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงสายไหม เขตสายไหม 5. คลินิกชุมชนอบอุ่นแขวงออเงิน เขตสายไหม 6. คลินิกชุมชนอบอุ่นแขวงคลองถนน เขตสายไหม 7. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน 8. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน 9. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว 10. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว

11. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 12. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร 13. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร 14. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงจอมพล เขตจตุจักร 15. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงจตุจักร เขตจตุจักร 16. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ 17. คลินิกชุมชนอบอุ่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ตรงที่สำนักงาน ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ โทร.02-574-5000 ต่อ 8800 (พรพรรณ)

ข้อมูลจาก FB : เหรียญทอง แน่นหนา