ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ-รมว.สธ. มอบสปสช.หารือหมอเหรียญทอง ถกแนวคิดคลินิกรักษาพยาบาลประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมสั่ง สบส.ตรวจสอบคลินิกเรียกเก็บค่าเวชระเบียน ห้ามทำเด็ดขาด ล่าสุดสปสช.เพิ่มคู่สายโทร 1330 ตอบคำถามสารพัดผู้ป่วยบัตรทองสิทธิว่าง

ตามที่พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ เสนอแนวทางแก้ปัญหาผู้ป่วยบัตรทองได้รับผลกระทบกรณีคลินิกชุมชนอบอุ่นทุจริตจนถูกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยกเลิกการเป็นคู่สัญญา ขณะที่หน่วยบริการรับต่อก็มีคนไข้ล้น จึงเสนอทางออกด้วยแนวคิดจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นนิติบุคคลที่ไม่หวังกำไร โดยเป็นนิติบุคคลเพื่อเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลคลินิกชุมชนอบอุ่นประจำแขวงในแต่ละเขต ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 2.5 ล้านบาท และให้ผู้มีสิทธิบัตรทองในเขตนั้นๆ เป็นเจ้าของโดยมีหุ้นอยู่คนละ 1 หุ้น หุ้นละ 100 บาท สัดส่วนให้ประชาชนมากกว่า หุ้นอีกส่วนถือโดยแพทย์ผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล โดยรพ.มงกุฎวัฒนะ เป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อ โดยจะนำร่องใน 17 พื้นที่นั้น

(อ่านข่าว : “หมอเหรียญทอง” ชูแนวคิดตั้ง “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง)

ล่าสุดวันที่ 24 ก.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ต้องขอบคุณทราบมาตลอดว่าทางคุณหมอเหรียญทองเสนอแนวทางดังกล่าว เรื่องนี้ก็จะรับไว้และให้ทางสปสช. เข้าไปพูดคุยรายละเอียดกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาครัฐกำลังเร่งแก้ปัญหาจัดหาคลินิกคู่สัญญาใหม่มาทดแทน แต่ระหว่างนี้อาจขรุขระไปบ้าง เพราะการโกงที่เกิดขึ้น ก็ต้องลงโทษผู้กระทำผิด จะเพิกเฉยไม่ได้ นอกจากนี้ ยังให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำชับ ไปยังสถานพยาบาล ว่าห้ามเก็บเงินกับผู้ป่วยในการขอเวชระเบียบเพื่อนำไปใช้ในการรักษาพยาบาลที่อื่นอย่างเด็ดขาด

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้สปสช.อยู่ระหว่างการเพิ่มคู่สายด่วน 1330 จาก 60 คู่สาย เป็น 1 พันคู่สาย ตอนนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบ ส่วนใหญ่เป็นคำถามซ้ำๆ ที่เกิดจากประชาชนตกใจ จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อย่างไรก็ตาม พบว่าที่ผ่านมามีผู้โทรเข้ามาสอบถามเกือบ 8 แสน แต่ในจำนวนนี้ พบว่ากว่า 7 แสนคน เป็นคนที่ไม่เคยไปใช้บริการรักษาโรคเลย แต่กลัวว่าจะไม่มีคลินิกรับดูแล ทั้งนี้ขอให้ใจเย็นๆ เนื่องจากช่วงนี้เร่งแก้ปัญหาให้คนที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องก่อน โดยกรณีที่ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่นๆ นั้นสปสช.จะตามไปจ่ายให้

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมีรายงานเมื่อวันที่ 23 ก.ย. พบว่ามีการเรียกเก็บค่าขอเวชระเบียนจากผู้ป่วย 4 คน รวม 600 บาท นั้น ขณะนี้ สปสช. ได้ไปเก็บประวัติของผู้มีสิทธิบัตรทองมาไว้ที่ฐานข้อมูล สปสช.แล้ว และเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ก็ได้มีการประชุมรพ.ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว หากประชาชนเซ็นต์ยินยอมเปิดเผยข้อมูล ทางสถานพยาบาลที่ผู้มีสิทธิไปใช้บริการ ก็สามารถเปิดข้อมูลเหล่านี้ได้ทางเว็บไซต์ สปสช.ได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ทพ.อรรถพร. กล่าวย้ำว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเฉพาะที่กทม.เท่านั้น ซึ่งในกทม. มีคลินิกชุมชนอบอุ่นทั้งหมดประมาณ 200 แห่ง โดยขณะนี้มีคลินิกที่พบการทุจริตต้องยกเลิกสัญญาไปแล้ว 82 แห่ง ส่วนล็อตหลังที่พบว่ามีความผิด 106 แห่ง ยังไม่ได้ยกเลิกสัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการยกเลิกสัญญาให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่น ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งต้องย้ายสิทธิการรักษาไปยังสถานพยาบาลแห่งใหม่ โดยจะต้องใช้เอกสารสำคัญอย่างประวัติการรักษาจากสถานพยาบาลเดิมเพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่ามีการโพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลว่าสถานพยาบาลที่ถูกยกเลิกสัญญาฯ บางแห่งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการขอประวัติการรักษาของผู้ป่วย ตนจึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพประสานไปยังสถานพยาบาลที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งหลังจากการพูดคุยปรับความเข้าใจกับสถานพยาบาลก็ได้มีการติดต่อคืนเงินให้กับผู้ป่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า กฎหมายสถานพยาบาลตามสิทธิผู้ป่วยกำหนดให้สถานพยาบาลจะต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลของตน เมื่อผู้ป่วยต้องการขอรับประวัติการรักษาของตนสถานพยาบาลจะต้องสำเนาเอกสารให้กับผู้ป่วยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น โดยกรม สบส.ได้ประสานกับโรงพยาบาลและคลินิกที่ถูกยกเลิกสัญญาฯ ซึ่งทุกแห่งพร้อมให้ความร่วมมือที่จะไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการจัดทำสำเนาประวัติของผู้ป่วย และจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเข้าถึงประวัติการรักษาด้วยความรวดเร็วและเหมาะสม

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

ทั้งนี้ สปสช.ได้มีการแจ้งเวียนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานพยาบาลทั้ง 64 แห่ง ว่าสามารถขอรับบริการที่หน่วยบริการใหม่ได้ทันที โดยไม่ต้องไปขอประวัติการรักษาจากสถานพยาบาลเดิม โดยหน่วยบริการใหม่สามารถเรียกดูประวัติการรักษาจากฐานข้อมูลของ สปสช.และรับการรักษาต่อได้ แต่หากประชาชนพบว่าสถานพยาบาลใดปฏิเสธที่จะให้ประวัติการรักษาสามารถแจ้งสายด่วน กรม สบส. 1426 เพื่อดำเนินการต่อไป