ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ทันทีที่สปสช.ต้องยกเลิกคลินิกชุมชนอบอุ่นบางส่วนที่ตรวจพบการทุจริตเบิกงบบัตรทอง จนมีประชาชนตามสิทธิรับผลกระทบ ล่าสุดเร่งดำเนินการแก้ปัญหา สู่ทิศทางปฏิรูประบบสาธารณสุขได้หรือไม่..

กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทันที หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  ประกาศยกเลิกสัญญากับคลินิกเอกชนส่วนหนึ่งในพื้นที่กทม. ซึ่งเป็นคู่สัญญาในการรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยบัตรทอง เนื่องจากตรวจพบการทุจริตเบิกงบเกินจริง ส่งผลให้มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบตรงจุดนี้กว่า 1 ล้านคน และอาจถึง 2 ล้านคน  แต่ที่ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษามีอยู่ประมาณ 30% หรือประมาณ 7-8 แสนคนนั้น

เกิดคำถามว่า ผู้ป่วยบัตรทองที่อยู่ในกลุ่มคลินิกที่มีการยกเลิกจะทำอย่างไร และจะยังมีสิทธิบัตรทองอยู่หรือไม่....... 

....ตอบชัดๆ ว่า ยังมีสิทธิบัตรทองเช่นเดิม เพราะสิทธิบัตรทองจะติดตัวตั้งแต่เกิดไปจนแก่ชรา ยกเว้นระหว่างนั้นหากทำงานในหน่วยงานราชการ ก็จะได้รับสิทธิราชการ แต่หากทำงานในบริษัท หรือองค์กรใดๆ ตามกฎหมายก็ต้องเข้าสิทธิประกันสังคม แต่หากนอกเหนือจากนั้น คนไทยทุกคนย่อมได้รับสิทธิพื้นฐานการรักษาพยาบาลถ้วนหน้า คือ บัตรทองนั่นเอง

ดังนั้น ประชากรในพื้นที่ที่มีสิทธิรักษาพยาบาลในคลินิกหรือหน่วยพยาบาลที่ถูกยกเลิกสัญญา ไม่ต้องกังวล เพราะสิทธิยังมีอยู่ เพียงแต่หน่วยบริการประจำไม่มี ซึ่งจุดนี้ สปสช. ให้สิทธิพิเศษ ที่เรียกว่า สิทธิว่าง ซึ่งสามารถเข้ารักษาที่ใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน สปสช. อยู่ระหว่างจัดหาหน่วยบริการใหม่ให้ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 2 เดือน

 

สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการดำเนินการเรียกเงินคืน การแจ้งความดำเนินคดี ยกเลิกสัญญา จัดหาคลินิกและหน่วยบริการใหม่ให้กับผู้ป่วยบัตรทองที่ได้รับผลกระทบแล้วนั้น สิ่งสำคัญจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้เป็นการแก้ไขอย่างยั่งยืน

ล่าสุดนพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ เสนอแนวคิดเพิ่มเติมนอกเหนือจากดึงคลินิกเอกชนแห่งใหม่เข้าร่วมแล้ว ว่า มีแนวคิดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) เป็นนิติบุคคลที่ไม่หวังกำไร โดยจะเป็นนิติบุคคลเพื่อเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลคลีนิคชุมชนอบอุ่นประจำแขวงในแต่ละเขต  โดยนิติบุคคลแต่ละแห่งคาดว่าจะก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียนแห่งละ 2.5 ล้านบาท ซึ่งประชาชนสิทธิบัตรทองที่ขึ้นทะเบียนปฐมภูมิกับคลีนิคถือหุ้นร่วมกันถือหุ้นคนละสูงสุดไม่เกิน 1 หุ้นๆละ 100 บาท เพื่อการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ‘คลีนิคชุมชนอบอุ่น’ ประจำแขวงที่ตนขึ้นทะเบียน ทั้งนี้สัดส่วนในการถือครองหุ้นโดยประชากรสิทธิบัตรทองในแต่ละบริษัท จะมีสัดส่วน 80% ที่เหลืออีก 20% จะถือหุ้นโดยแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล 10% และ รพ.มงกุฎวัฒนะซึ่งเป็น รพ.แม่ข่ายเพื่อการรับส่งต่อผู้ป่วยที่เกินขีดความสามารถของคลีนิคอีก 10% ทั้งนี้ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ขึ้นทะเบียนบัตรทองจากเขตอื่น หรือผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ตลอดจนนิติบุคคลทั่วไปถือหุ้นในวิสาหกิจเพื่อสังคมนี้

โดยแนวคิดดังกล่าวแน่นอนว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับทราบและมอบให้ทาง สปสช. ร่วมหารือแนวทางดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับผู้บริหารทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และแวดวงสาธารณสุข มองว่า เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และส่วนหนึ่งยังมองว่าหากทำได้ก็จะยังสอดคล้องกับนโยบายของนายอนุทิน คือนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” เพราะหากในอนาคตสามารถจัดบริการรักษาได้ทุกที่ ก็จะทำให้ผู้ป่วยบัตรทองไม่ได้รับผลกระทบหากต้องมีการยกเลิกสัญญา หรือเกิดเหตุขัดข้องอะไรขึ้นมา เพราะดูจากการแก้ปัญหาขณะนี้ ที่สปสช.ดำเนินการ คือ การให้ไปรักษาคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ไหนก็ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้คลินิกนั้นๆเบิกเงินมากับทางสปสช.ในราคาตามความเป็นจริง ซึ่งหากสามารถจัดระบบ 30 บาทรักษาทุกที่ได้ย่อมส่งผลดี

“ แนวคิดของ นพ.เหรียญทอง ที่จะจัดการบริการแบบวิสาหกิจชุมชน โดยให้ประชาชนถือหุ้นนั้น ซึ่งเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เหมือนเป็นเจ้าของ ก็คล้ายๆการร่วมจ่ายก่อนใช้บริการรูปแบบหนึ่งในลักษณะสมัครใจ ซึ่งหากทั้งหมดมาจัดระบบบริการให้ดีก็จะเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุข ส่วนใครที่ไม่สามารถร่วมจ่ายหรือถือหุ้นก็ไม่ได้บังคับ หากทำได้และเกิดความร่วมมืออย่างแท้จริง ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ” แหล่งข่าวฯ กล่าว

ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. มองว่าแนวคิดของนพ.เหรียญทอง ถือเป็นอีกรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งต้องมีการพิจารณาและหารือร่วมกัน อย่างไรก็ตาม อยากย้ำว่า สำหรับการยกเลิกคลินิกจนมีผู้ป่วยบัตรทองส่วนหนึ่งรับผลกระทบนั้น เป็นผลมาจากคลินิกมีการทุจริต เป็นการทำผิดสัญญา ซึ่งสปสช.จำเป็นต้องยกเลิก แต่เมื่อยกเลิกแล้วก็เร่งดำเนินการหาคลินิก หรือสถานพยาบาลให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาเร่งด่วน ส่วนกลุ่มอื่นๆที่เป็นสิทธิว่างก็สามารถรักษาได้ทุกที่ โดยได้มีการประสานกับสถานพยาบาลและคลินิกต่างๆแล้ว ซึ่งสปสช.จะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาให้ตามความเป็นจริง

“กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ สปสช.ตรวจพบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยระบบตรวจสอบนั้น เริ่มแรกจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจสอบตามเกณฑ์ เมื่อผ่านก็จะจ่ายเงินให้กับคลินิกหรือสถานพยาบาลนั้นๆ แต่ไม่ได้จ่ายขาด เพราะจะมีการตรวจสอบอีกขึ้นตอนหนึ่งโดยเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบรายละเอียด เช่น พบมีการเบิกจ่ายมากผิดปกติก็ลงพื้นที่ไปคลินิกนั้นๆ ไปดูเวชระเบียนและโทรสอบถามผู้ป่วยตามสิทธิ ปรากฎว่าเขาไม่ได้มาตรวจ มีการสวมสิทธิ หลังจากนั้นเมื่อพบว่าผิดจริง ก็เรียกเงินคืน และดำเนินคดี จากนั้นต้องยกเลิกสัญญา   และมีการขึ้นบัญชีดำทันที แต่หลังจากนั้นทาง สปสช.ประสานกับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาเร่งด่วน และเร่งหาหน่วยบริการมาทดแทนทันที ซึ่งปัญหาเหล่านี้สปสช.จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด  อย่างไรก็ตาม สำหรับคลินิกและสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช. มีทั้งหมด 200 แห่งเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเป็นคลินิกทันตกรรม 100 แห่ง ซึ่งสำจากการตรวจสอบพบการทุจริตเบื้องต้นพบคลินิกเบิกงบบัตรทองเกินจริงจำนวน 82 แห่ง และคลินิกทันตกรรมพบเบิกงบเกิน 6 แห่ง ส่วนล็อตที่ 3 อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 106 แห่ง” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวทิ้งท้าย

สรุปว่า ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง และอยู่ในพื้นที่รับผลกระทบจากคลินิกเบิกงบเกินจริง จัดอยู่ในกลุ่มสิทธิว่าง ซึ่งสามารถรักษาได้ทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องจ่ายค่าเวชระเบียนประวัติการรักษาให้สถานพยาบาลเก่า เพื่อนำมารักษายังคลินิกใหม่ เพราะล่าสุดสปสช. ได้ประสานข้อมูลเหล่านี้แล้ว โดยเราต้องเซ็นต์ยินยอมการเปิดเผยข้อมูล หรือโทรสอบถามสายด่วน สปสช. 1330 โดยเพิ่มคู่สายจาก 60 สายเป็นพันสาย เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน

หวังว่าแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวจะแล้วเสร็จโดยเร็ว และถือโอกาสปฏิรูประบบการบริการเพื่อผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง...