ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขอเวลาสอบคลินิกทุจริตบัตรทองล็อต 2 หลังล็อตแรกแจ้งความเอาผิด พร้อมสั่งปรับปรุง ส่วนล็อต 3 ยังรอข้อมูลจากสปสช. ขณะที่แพทย์เอี่ยวหรือไม่ จนท.ตร.กำลังตรวจสอบ ว่าเป็นผู้ดำเนินการ หรือมีเจ้าหน้าที่อื่นๆ

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงความคืบหน้าการการเอาผิดสถานพยาบาลเอกชนที่ทุจริตเบิกงบค่าตรวจสุขภาพป้องกันโรคกลุ่มเมตาบอลิก ในผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ตรวจสอบการทุจริตของสถานพยาบาลเอกชน 3 ล็อต ล็อตแรก พบว่ามีการทำผิด 18 แห่ง ในส่วนนี้ ทาง สปสช. ได้ส่งเรื่อง ส่งข้อมูลมาให้สบส. พิจารณาเอาตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา 73 เรื่องการทำเอกสารข้อมูลผู้ป่วยอันเป็นเท็จ ซึ่งหลังได้รับเรื่องมา สบส.ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม และดำเนินแจ้งความเอาผิดแล้ว มีโทษทางอาญาทั้งจำ ทั้งปรับ และสั่งให้ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้มีมาตรฐานต่อไป

ส่วนล็อตที่ 2 มีสถานพยาบาลเอกชนทำผิด 64 แห่ง สปสช.ส่งข้อมูลเบื้องต้นมาให้บางส่วน และเพิ่งจะส่งข้อมูลทั้งหมดของการขยายการตรวจสอบ 100% มาให้ สบส. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในล็อตนี้จึงยังต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ซึ่งข้อมูลที่ส่งมาให้ค่อนข้างเยอะ ส่วนล็อตที่ 3 ที่พบการทุจริต อีก 108 แห่งนั้น ทางสปสช.ยังไม่ได้ส่งข้อมูลมาให้

เมื่อถามว่า ความผิดฐานปลอมแปลงการสารข้อมูลผู้ป่วยกระทำการทุจริต ต้องเพิกถอนใบอนุญาตการเปิดสถานพยาบาลหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ความผิดเกี่ยวกับการทำเอกสารเท็จ ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล เข้าข่ายผิดอาญา มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ ก็อยู่ที่พนักงานสอบสวน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนสบส. ก็มีอำนาจในการสั่งพักใช้ใบอนุญาต และปิดสถานพยาบาลชั่วคราวได้ เพื่อให้สถานพยาบาลนั้นดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่บกพร่อง ระยะเวลาก็แล้วแต่ส่งที่ต้องปรับปรุง เช่น ถ้าเป็นเรื่องโครงสร้างก็ใช้เวลานานราวๆ 2-3 เดือน ถ้าเป็นเรื่องง่ายๆ ก็อาจจะปิดประมาณ 2-3 สัปดาห์ อย่างกรณีสถานพยาบาล 18 แห่งในล็อตแรกนั้น สบส.สั่งให้แก้ไขปรับปรุงระบบฐานข้อมูล ก็มีดำเนินการปรับปรุง 16 แห่ง อีก 2 แห่งยังไม่ทำก็ต้องสั่งปิดชั่วคราว แต่ตอนนี้ก็แก้ไขและกลับมาเปิดให้บริการแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีการออกเอกสารเท็จดังกล่าวหากเป็นแพทย์ จะต้องส่งเรื่องให้แพทยสภาพิจารณาเกี่ยวกับจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในบรรดาสถานพยาบาลที่ทำผิดนั้น อยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งการทำเอกสารเท็จนั้น อาจจะมีแพทย์ เป็นผู้ดำเนินการ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นๆ ดำเนินการก็ได้ จึงรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งกลับมา โดยอาจจะส่งกลับมาที่สบส. เพื่อดำเนินการส่งต่อแพทยสภาพิจารณา หรือทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะส่งเรื่องตรงไปยังแพทยสภาเลยก็ได้