ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยทีมวิชาการประมาณการตัวเลขป่วยโควิดจริงในไทย ถึง 6 พันคน ห่วงการระบาดเมียนมาจ่อไทย ขอความร่วมมือทุกฝ่ายเข้มมาตรการป้องกันการระบาดของโรค

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของทั้งโลกขณะนี้ซึ่งมีผู้ป่วย 34 ล้านคนแล้วยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเท่าไหร่ยังคงอยู่ในระดับสูง ตัวเลขที่เปิดเผยในปัจจุบันนักวิชาการคาดว่าต่ำกว่าตัวเลขจริง ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยในระบบรายงานอยู่ที่ 3,575 คนแต่จากการค่าประมาณของทีมวิชาการที่มีการคาดประมาณสถานการณ์ก็คาดว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยมากกว่านี้ โดยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 พันกว่าคน

ที่ผ่านมาเราก็คุมสถานการณ์ของโรคได้ดีปัจจัยสำคัญ เรื่องเราทำได้ดีมากแต่บางเรื่องมีการลดความสำคัญลง 1. มีระบบควบคุมโรคที่เข้มแข็ง ได้รับคะแนนอันดับดีทั้งในระดับโลกและระดับเอเชีย มีทีมสอบสวนโรคที่เข้มแข็ง 2. การเริ่มปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว โดยหลังจากมีข่าวการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2562 ในวันที่ 3 ม.ค. 2563 ไทยก็เริ่มปฏิบัติการสาธารณสุขทันที 3. มีการใช้องค์ความรู้จากนักวิชาการ ใช้ความรู้วิชาการมาเป็นตัวนำ ทุกวันนี้ทีมวิชาการยังทำงานอย่างเข้มแข็ง การให้ข่าวและการตัดสินใจหลายอย่างที่ต้องใช้หลักฐานทางวิชาการก็สามารถร่วมกันคิดร่วมกันทำได้ค่อนข้างดี 4. ภาวะการนำในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสูงสุดของประเทศ ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี และระดับรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ตลอดจนพื้นที่ ตำบล หมู่บ้านก็มีส่วนร่วมเข้ามาช่วยในการประคับประคองสถานการณ์

5. ความร่วมมือทุกภาคส่วน ในทุกครั้งที่มีการแถลงข่าว แม้กระทั่งแถลงที่กระทรวงสาธารณสุขจะมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมให้ความร่วมมือ 6. การสื่อสารที่ดีโดยมีทีมที่ทำเนียบรัฐบาลและทีมกระทรวงสาธารณสุข และสุดท้าย 7. คือความร่วมมือร่วมใจของคนไทย เวลาที่เราเผชิญสถานการณ์วิกฤตใดๆ ก็ตามคนไทยจะหันหน้าเข้าหากัน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้สถานการณ์จากเมียนมาเป็นตัวกดดันสำคัญของประเทศไทยว่าจะมีการระบาดเข้ามา หากเรามีระบบควบคุมป้องกันโรค มีการจัดการที่ดีในระยะเวลาที่เหมาะสม ก็จะควบคุมการระบาดในประเทศไทยได้ แต่หากยังมีการปล่อยให้ลักลอบเข้ามา ความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดในประเทศไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้สถานการณ์การระบาดของเมียนมาจากจุดเริ่มต้นย่านตะวันตกแถบรัฐยะไข่ก็เริ่มคลืบคลานมาทางตะวันออกเพิ่มมากขึ้นมีการระบาดรุนแรงในเมืองย่างกุ้งมาสักระยะแล้ว และเริ่มมีเมืองอื่นๆ ที่เริ่มเจอผู้ป่วยประปรายรวมถึงรัฐมอญ ซึ่งมีชายแดนบางส่วนติดกับประเทศไทย และอีก 2 รัฐคือคะฉิ่นและอีก 1 รัฐอาจจะเจอผู้ป่วยไม่มาก แต่ก็เริ่มเห็นว่าการระบาดของโรคใกล้ชายแดนไทยเข้ามาทุกที เพราะฉะนั้นเรื่องการกวดขันคนที่เดินทางเข้าเมืองผิดกฎหมายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่ทุกฝ่ายไม่เพียงแต่ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ประชาชนทุกคนสามารถช่วยกันสอดส่องได้หากพบการเข้าเมืองผิดกฎหมายขอให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐด้วย

อย่างไรก็ตามอยากจะแยกก่อนว่าการระบาดกับการพบผู้ป่วยรายใหม่นั้นแตกต่างกัน เราสามารถพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย และไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นตระหนก แต่จะทำอย่างไรให้การที่พบผู้ป่วยรายใหม่ไม่นำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายสาธารณสุขเตรียมแผนการรองรับเอาไว้จนถึงวันนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการระบาดระลอก 2 ไม่ได้มีหลักฐานชัดว่าจะรุนแรงกว่ารอบแรกเสมอไป การจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติแต่ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมป้องกันโรคและความร่วมมือของประชาชนหากสวมหน้ากากอนามัยหน้ากากผ้า เมื่อออกไปพื้นที่ชุมชน ก็จะลดโอกาสที่จะเกิดการระบาดใหญ่ได้มาก และเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นการตอบโต้หรือตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างเหมาะสมจะมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนน้อยที่สุดถือว่าดีกว่าการตอบโต้แบบรุนแรง วันนี้ภาครัฐจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามา แต่ย้ำว่าจะเริ่มจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำๆ

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า การดำเนินการมาตรการควบคุมโรคทางสาธารณสุขที่ล่าช้า ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการควบคุมโรคมากที่สุด โดยพบว่าหากดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคล่าช้าน้อยกว่า 1 วัน หลังพบผู้ป่วย จะมีประสิทธิผลในการควบคุมโรคเหลือ 79.9% แต่หากล่าช้าถึง 3 วัน ประสิทธิผลเหลือ 41.8% ซึ่งลดลงมาถึงครึ่ง และหากล่าช้าถึง 7 วัน ประสิทธิผลจะเหลือเพียง 4.9% เพราะฉะนั้นการตรวจเจอผู้ติดเชื้อได้เร็ว จะส่งผลโดยตรงต่อการควบคุมโรคไม่ให้ระบาดและแพร่ออกไปในวงกว้าง ซึ่งการที่มีโมบายแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในการติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ จะทำให้สามารถติดตามได้เร็ว และควบคุมโรคได้ทันการณ์ ประสิทธิผลของการควบคุมโรคก็จะมากขึ้น

"การที่ทำให้มาตรการควบคุมโรคทางสาธารณสุข สามารถดำเนินการได้เร็ว เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งคนไทยสามารถช่วยได้ โดยการใช้เช็คอิน เช็คเอาท์แอพพลิเคชั่น ทั้งหมอชนะ หรือไทยชนะในการเข้าไปใช้บริการสถานที่ต่างๆ เพราะเมื่อเกิดการตรวจเจอผู้ติดเชื้อขึ้น จะสามารถตามหาคนสัมผัสได้ร็ว และเข้าไปควบคุมสถานการณ์ได้ทัน" นพ.ธนรักษ์ กล่าว.