ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมกก.นโยบายเมดิคัลฮับ ตั้งคณะทำงานร่วม 3 กระทรวง “สธ.-ท่องเที่ยว-คมนาคม” พร้อมเห็นชอบ 4 เรื่องหลัก ทั้งเปิดสนามบินเพิ่ม - การดำเนินการสถานที่กักตัวทางเลือก-สถานที่กักตัวในสปา รีสอร์ท- ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต”

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(นโยบายเมดิคัลฮับ:Medical Hub) กล่าวภายหลังการประชุมฯคณะกรรมการฯว่า ได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานร่วม 3 กระทรวง คือ สธ. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม ให้เกิดความคล่องตัว เพื่อกำกับดูแล ประเมินการดำเนินกิจกรรมให้เป็นรูปธรรมากยิ่งขึ้น และนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากตนเป็นรองนายกฯที่รับผิดชอบใน 3 กระทรวงนี้อยู่แล้ว

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯรับทราบและเห็นชอบในหลักการ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. แนวทางการดำเนินการทางอากาศ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดดำเนินการแล้ว 2 สนามบินคือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง โดยที่ประชุมรับในหลักการเปิดสนามบินเพิ่มเติมอีก 4 แห่งเพื่อรับผู้เดินทางจากต่างประเทศในลักษณะบินตรง คือ สนามบินสมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ และอู่ตะเภา โดยจะเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค.)พิจารณาต่อไป โดยจะเปิดรับผู้ป่วยที่ประสงค์จะบินตรงเพื่อเข้ารับการรักษาที่พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีความเชี่ยวชาญในบางโรค ทั้งนี้ แนวทางวิธีการดำเนินการเปิดรับผู้เข้ารับการรักษาจะมีขั้นตอนการอนุญาตให้เข้ามาเหมือนกับที่ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

2.การดำเนินการสถานที่กักตัวทางเลือกในสถานที่รัฐกำหนด(Alternative Hospital Quarantine:AHQ) ซึ่งขณะนี้มีการผู้เดินทางเข้ามากักตัวประเภทนี้แล้ว 1,123 คน แยกเป็น ผู้ป่วย 652 คน และผู้ติดตาม 471 คน สร้างรายได้เข้าประเทศราว 114 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขออนุญาตเข้าประเทศอีกราว 2,220 คน จะสร้างรายได้เข้าประเทศอีกกว่า 100 ล้านบาทเช่นกัน รวมถึงประมาณการที่จะเดินทางเข้ามาอีกกว่า 3,000 ราย สร้างรายได้กว่า 300 ล้านบาท และจะมีการต่อยอดโปรแกรมเสริมเรื่องของการShopping online ซึ่งผนวกร่วมกับของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามได้ซื้อสินค้า นอกจากนี้ ได้ทำเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหลังครบกหนดกักตัว 14 วันด้วย

3.สถานที่กักตัวในสปา รีสอร์ท(Well ness Quarantine:WQ) ซึ่ง ศบค.ชุดเล็กได้เห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างที่สบส.มาดำเนินการจัดทำแนวทาง โดยแนวทางจะเหมือนกับสถานที่กักตัวอื่นๆ ที่จะต้องเลือกประเทศต้นทาง นัดล่วงหน้ากับสปารีสอร์ทและตรวจโควิด19 จำนวน 3 ครั้ง รวมถึงกลุ่มผู้ที่เข้ามาอยู่ในลักษณะระยะยาว(Long-term Care) ซึ่งประมาณการผู้เดินทางจาก2ลักษณะนี้ราว 5,000 คน คาดการว่าจะสามารถสร้างรายได้ราว 195 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีการเสนอให้เพิ่มส่วนของสนามกอล์ฟเป็นสถานที่กักตัว เพื่อให้เฉพาะกลุ่มนักกอล์ฟเข้าใช้บริการด้วย และ 4.โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต ให้เป็นเมดิคัลฮับนานาชาติในส่วนของภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

เมื่อถามความคืบหน้ากรณีการลดเวลากักตัว นายอนุทิน กล่าวว่า การที่เราจะเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ แต่การจะให้อยู่ในสถานที่กักตัวนานถึง 14 วัน ก็อาจจะมีความยาก คนทั่วไปก็ไม่มีมาเที่ยว เพราะถ้าเป็นนักท่องเที่ยวไฮเอน จะมีมากี่คน ดังนั้นที่เราต้องการคือต้องการการเดินทางเข้ามาจำนวนมาก เพราะฉะนั้นวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องหาวิธีการที่จะลดการกักตัวจาก 14 วันเหลือลงมาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค ก็ต้องไปหาวิธีการ เทคนิคการตรวจ เชื้อต่างๆ ในกลุ่มผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อนำไปสู่การลดจำนวนวันกักตัวลง ถ้ากระทรวงสาธารณสุขสามารถยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัย ถ้าเจอเคส สามารถหาตัวได้เจอ รักษาไม่กี่วันหาย ระบบการแพทย์พร้อมรองรับทั้งยา เวชภัณฑ์และบุคลากร เมื่อมีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์จะได้มีการนำเสนอ และยืนยันในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ได้ ยืนยันว่าเน้นที่ความปลอดภัยเป็นหลักค่อยๆ ทยอยลดเวลาลง ส่วนเรื่องระยะเวลานั้นตนไม่ได้ไปกำหนด แต่ขอให้ทำอย่างรอบคอบ และรวดเร็ว