ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รามาฯเผยผลงานวิจัยม.ฟลอริดา ศึกษากลุ่มที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน แต่มาสูบบุหรี่ฟฟ้าเป็นประจำทุกวัน พบเกิดโรคปอดเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ส่วนกลุ่มที่เคยสูบบุหรี่แบบธรรมดา แต่เลิกแล้ว และหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวันพบเสี่ยงโรคปอดเฉลี่ย 2 เท่า

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยโดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Public Health Reports เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 คณะนักวิจัยได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการเกิดโรคปอด ได้แก่ ปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น โดยใช้ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนสหรัฐอเมริกา หรือ Behavioral Risk Factor Surveillance System (BRFSS) ประจำปี 2559 ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 45,908 คน คณะวิจัยได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคปอดและการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยได้วิเคราะห์แยกประเภทตามการสูบบุหรี่แบบธรรมดา ได้แก่ กลุ่มที่ยังสูบบุหรี่แบบธรรมดา กลุ่มที่เคยสูบบุหรี่แบบธรรมดาแต่ปัจจุบันเลิกสูบแล้ว และกลุ่มที่ไม่เคยสูบบุหรี่แบบธรรมดามาก่อน

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ผลการวิจัยที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มที่ไม่เคยสูบบุหรี่แบบธรรมดามาก่อนที่ปัจจุบันสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำทุกวัน จะพบมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคปอดเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังพบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มที่สูบบุหรี่แบบธรรมดาหรือกลุ่มที่เคยสูบบุหรี่แบบธรรมดาแต่เลิกสูบไปแล้วหากปัจจุบันสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวันก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดเฉลี่ย 2 เท่า ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าทำการตลาดพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจนจากข้อมูลในต่างประเทศพบกว่า 40% ของเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เคยสูบบุหรี่แบบธรรมดามาก่อน บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าออกแบบผลิตภัณฑ์โดยเติมสารที่เรียกว่า nicotine salts เพื่อให้เยาวชนสูบง่ายขึ้น ไม่แสบคอเหมือนบุหรี่แบบธรรมดา นอกจากนี้ยังเติมรสชาติและกลิ่นต่างๆเพื่อดึงดูดเยาวชน จึงอยากเตือนไปยังเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครองอย่าตกเป็นเหยื่อสิ่งเสพติดสายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ เพราะนอกจากบุหรี่ไฟฟ้าจะมีอันตรายต่อร่างกายแล้วจะทำให้เยาวชนที่หันมาลองสูบส่วนใหญ่ติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ขอเตือนกลุ่มวัยรุ่นถึงอันตรายต่อสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีรายงานเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้มีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าอันตรายต่อปอดและหัวใจของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า อาจจะใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่ธรรมดาและมีหลักฐานจากงานวิจัยที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดมะเร็งปอดในหนูทดลอง ทุกฝ่ายจึงต้องไม่หลงเชื่อฝ่ายที่ผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา เพราะผลกระทบระยะยาวยังไม่มีใครทราบ ขณะเดียวกันข้อมูลที่พบว่า 40% ของเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ลบล้างข้ออ้างของบริษัทบุหรี่ที่อ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ลดอันตราย (Harm reduction) โดยกรณีที่คนที่ไม่สูบบุหรี่แล้วเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการเพิ่มไม่ใช่ลดอันตราย ซึ่งการมีขึ้นของบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้การบรรลุเป้าหมายสังคมปลอดบุหรี่ใช้เวลานานยิ่งขึ้น

แหล่งข้อมูล

Use of E-Cigarettes and Self-Reported Lung Disease Among US Adults https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/0033354920951140