ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ที่กำลังขยายตัวแพร่หลาย กลายเป็นช่องทางหาประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยี่ห้อหนึ่ง บรรจุ 60 แคปซูล ซึ่งมีผู้สั่งซื้อสินค้าชนิดนี้เป็นจำนวนมากทางออนไลน์ ตามเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก รวมถึงแอพลิเคชั่นไลน์ ระบุว่าเป็นวิตามินบำรุงและดีท็อกซ์ปอด แนะนำให้ทานตอนเช้า 1 เม็ดพร้อมมื้ออาหาร และเย็น 1 เม็ดพร้อมมื้ออาหาร โดยผลิตจากสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Thyme (ไธม์)

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายว่า “ไธม์” เป็นสมุนไพรมีถิ่นกำเนิดในสหรัฐอเมริกาและยุโรปทั่วไป อยู่ในสกุลเดียวกับมินต์ (Lamiaceae) ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเตี้ย ทอดเลื้อยตามหน้าดิน แตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบมีขนาดเล็กออกเรียงสลับใบดกตลอดปี

ยอดและใบของไธม์ นำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย  นิยมไปปรุงอาหารอย่างแพร่หลาย เป็นยาฆ่าเชื้อ ต้านเชื้อแบคทีเรียทางการแพทย์ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสในเซลล์สร้างเม็ดสี ,กลิ่นสดๆ ดมแล้วดีต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร เสริมความแข็งแกร่งให้ระบบประสาท ลดความเครียด เพิ่มความจำ สมองปลอดโปร่งและสมาธิดี 

เปลือกของราก จะมีเป็นสีแดง และมีรสหวานใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ,ใบทำให้เสมหะแห้ง และเป็นยารักดีพิการ ผลจะมีรสหวาน ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง และอาการคอแห้ง ทำให้ชุ่มชื้น ,รากจะมีรสชุ่ม ใช้เป็นยาบำรุงปอด ขับเลือดที่เน่าในท้อง รักษาพิษยาหรือพืชพิษต่าง ๆ 

แม้จะมีสรรพคุณมากมาย แต่เมื่อ อย. ได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็พบว่ายังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ไม่เพียงเท่านั้นยังได้ทำการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตในเว็บไซต์ ซี่ง อย. พิจารณาโฆษณาแล้วเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ด้วยข้อความว่า ช่วยยับยั้งเอนไซม์ ล้างสารพิษในระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น อย. จึงสั่งระงับการโฆษณา และดำเนินการตามกฎหมายแล้ว

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารใด สามารถช่วยล้างหรือขับสารพิษได้ โฆษณาดังกล่าวจึงโอ้อวดสรรพคุณเกินขอบข่ายความเป็นอาหาร ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะมีความเสี่ยง อาจได้รับผลิตภัณฑ์ปลอม ไม่มีคุณภาพ หรือมีส่วนผสมของสารอันตราย

ทั้งนี้ วิธีถนอมปอดที่ถูกต้อง คือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้แหล่งที่มีควันบุหรี่ ฝุ่นควัน และหากต้องเข้าไปอยู่สถานที่ซี่งมีฝุ่นควันก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละออง หากประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th

อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมที่อ้างว่าเป็นวิตามินบำรุง-ดีท็อกซ์ปอด เริ่มมีผู้นำมาโพสต์ขายบนเฟซบุ๊กเป็นครั้งแรกประมาณช่วงปลายปี 2559 โดยระบุสรรพคุณมากมายครอบจักรวาลรักษาได้ตั้งแต่หน้ามืดเป็นลม ท้องเสีย ช่วยการไหลเวียนของหลอดเลือด แม้กระทั่งยับยั้งมะเร็งไปจนสร้างเซลล์กระดูก ก่อนที่ในปี 2560 จะเปลี่ยนเป้าหมายทางการตลาดให้แคบลง โดยเน้นผู้ที่ปาร์ตี้บ่อย ดื่มหนัก นอนน้อย และสูบบุหรี่จัด จำหน่ายกล่องละ 60 เม็ด ราคา 1,350 บาท ในขณะที่ 100  เม็ด ราคา 1,650 บาท ช่องทางการจำหน่ายมีทั้งผ่านตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ผลิต และการฝากขายที่เว็บออนไลน์ใหญ่ๆ แต่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ขายได้ ซึ่งยิ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มีความน่าเชื่อถือเลย