ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ. นำทีมผู้บริหาร สธ.ตบเท้าแถลงรับมือโควิด-19 ระลอกถัดไป เปิด 3 ฉากทัศน์คาดการณ์อนาคต กรมการแพทย์สร้างความเชื่อมั่นมีเตียงรองรับสูงสุด 2 หมื่นเตียงทั่วประเทศ ส่วนกรมวิทย์ฯพร้อมตรวจเชื้อ

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารทุกกรมสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรค covid-19 พร้อมเปิดตัวแบบจำลองหรือฉากทัศน์สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยรอบถัดไป โดย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ประเทศไทยเรียนรู้และรู้จักโรคโควิด -19 มานานกว่า 9 เดือน สามารถควบคุมโรคได้ดีเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจก็มีการถดถอยมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องมีการสร้างสมดุลในการควบคุมป้องกันโรค และการเดินหน้าเศรษฐกิจที่ยังต้องพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว การค่อยๆแง้มประตูรับนักท่องเที่ยวเข้ามาบนพื้นฐานความสามารถทางการแพทย์ในการควบคุมป้องกันโรค การรักษา รับมือทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีมาตรการเข้มงวดในการเฝ้าระวังและป้องกันโควิด ซึ่งสิ่งสำคัญมาจากความร่วมมือของประชาชน ทำให้ผู้ติดเชื้อของไทยอยู่ในอัตราป่วยต่ำ แต่ไม่สามารถประมาทได้ เพราะทั่วโลกยังมีสถานการณ์โควิด และประเทศเพื่อนบ้านยังมีการติดเชื้อรุนแรง โดยเฉพาะแถบชายแดนประเทศไทย

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำฉากทัศน์ หรือแบบจำลองสถานการณ์การระบาดโควิดรอบถัดไป โดยแบ่งฉากทัศน์ออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1  : สถานการณ์ดีโดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1 รายหรือ 2 รายและเข้าไปควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายได้ 

รูปแบบที่ 2   : หลังจากมีเคสที่ 1 ขึ้นมาอาจจะมีการระบาดในกลุ่มเล็กๆ คาดว่าจะมีประมาณ 10-20 ราย อาจจะมีลูกใหญ่บ้าง เล็กบ้างแต่สามารถควบคุมได้ภายในระยะเวลาอันสั้นไม่ให้เกิน 3 สัปดาห์ หรืออย่างมาก 4 สัปดาห์

รูปแบบที่ 3   : เป็นการจำลองสถานการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดคือเมื่อมีรายแรกเกิดขึ้นก็เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้าง100 - 200 คน เหมือนเคสติดเชื้อที่สนามมวยที่ผ่านมา ซึ่งไม่อยากให้เกิดแบบนี้และคาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น หากประชาชนให้ความร่วมมือโดยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ เนื่องจากกรณีที่ 3 ส่วนใหญ่จะมาจากสถานประกอบการก่อนและกระจายออกวงกว้าง ดังนั้น หากร่วมมือป้องกันกันดีก็จะไม่เกิดขึ้น

"แต่ละฉากทัศน์จะต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งช่วงหลังเราพบว่าประชาชนให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยเพียง 80% ซึ่งถือว่าไม่มาก ดังนั้น ต้องหันมาสวมหน้ากากอนามัยในการป้องกันการแพร่กระจาย และการรับเชื้อ ซึ่งหากทำได้มากกว่า 85-90% ร่วมกับการเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ หรือหากมีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่นให้รีบปรึกษาแพทย์ รวมทั้งขอให้สแกนการเข้าออกสถานที่ต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ไทยชนิ ก็จะช่วยเพิ่มมาตรการการป้องกันโรคได้มากขึ้น” ปลัดสธ.กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่ยังต้องดำเนินการต่อไปคือ การสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ และสุขภาพ โดยต้องลดความเสี่ยงโควิด19 อย่างเรื่องสุขภาพ ยังต้องเน้นการป้องกัน การควบคุมโรคให้เร็ว ซึ่งปัจจุบันมีทีมสอบสวนโรคเร็ว 1,000 ทีม เตรียมเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า นอกจากนี้ เตรียมพร้อมการรักษา และการสื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชน ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจนั้น ต้องเข้มงวดเฝ้าระวังทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ อย่างภายในประเทศ สถานที่เสี่ยง แรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน สถานศึกษา ส่วนกิจการต่างประเทศมีระบบในการเฝ้าระวังควบคุมกลุ่มเดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่ม Medical program เป็นต้น

“สิ่งสำคัญในการควบคุมโรค คือ หากพบการติดเชื้อต้องดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วภายใน 3-4 สัปดาห์ ลดอัตราป่วยตายต่ำกว่า1.4% ซึ่งการจะดำเนินการได้ต้องทำงานเร็ว ซึ่งเรามีทีมสอบสวนโรคที่มีถึง 1,000-3,000 ทีม มีระบบเครือข่ายเฝ้าระวังและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย โดยเฉพาะเพิ่มศักยภาพจังหวัดในการจัดการโควิด มีระบบบัญชาการเหตุการณ์ด้านสาธารณสุข ทุกจังหวัดมีแผนเตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมแผน และในฉากทัศน์ทั้ง 3 สถานการณ์จะต้องมีการฝึกซ้อมแผนทั้งหมด โดยจะทยอยฝึกซ้อมตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายการเฝ้าระวังและตรวจทางห้องปฏิบัติการโควิด-19จะมีการเฝ้าระวังกลุ่มต่างๆ คือ การเฝ้าระวังกลุ่มที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ตรวจ Lab ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในทุกโรงพยาบาล การเฝ้าระวังกลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือพื้นที่เฉพาะ เช่นผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน และการเฝ้าระวังพิเศษในกลุ่มอื่นๆตามสถานการณ์ เช่นนักกีฬาฟุตบอลไทยลีก นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจค้นหาในการสอบสวนทางระบาดวิทยา กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน ดังนี้ การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน กรณีพบผู้ป่วยต่อเนื่องเกิน 28 วัน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลกรณีโควิดหากระบาดรอบถัดไปนั้น ในส่วนของเตียงรองรับหากมีผู้ป่วยโควิด ขณะนี้มีเตียงกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ โดยการรับผู้ป่วยนั้นจะพิจารณาจากคนไข้ที่มีอาการหนักที่อยู่ในห้องไอซียู โดยตัวเลขจากการระบาดรอบแรกคนไข้นอนไอซียู พบนอนเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ดังนั้น การเตรียมพร้อมครั้งนี้ ในกทม. สามารถรองรับได้ 230-400คน ขณะที่ทั่วประเทศสามารถรองรับได้ 1,000-1,740 คนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อในขณะนั้น (จากการรวบรวมข้อมูลความรุนแรงของการระบาดทั่วโลก) จึงขอให้มั่นใจได้ว่ามีความพร้อมตรงนี้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาการอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับกรมวิทย์ฯ มีศักยภาพตรวจเชื้อเฉพาะกทม.ได้ถึงวันละ 10,000 ตัวอย่าง ขณะที่ศักยภาพในการตรวจพื้นที่ต่างจังหวัดตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังมีห้องปฏิบัติแทบทั่วประเทศที่สามารถตรวจได้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 230 แห่ง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเรายังมีการสุ่มตรวจเชื้อโควิดในพื้นที่ชายแดนไปประมาณ 100,000 ราย พบผลบวก 1 ราย ดังนั้น เห็นได้ว่ากรมฯ มีการตรวจเชื้อเชิงรุก ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอหากมีผู้สงสัยติดเชื้อและต้องตรวจเชื้อเพื่อยืนยันผล

 

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง