ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายกรมควบคุมโรคจัดทำรายละเอียดเสนอจำนวนวันที่เหมาะสมในการกักตัว ว่าสามารถป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการแถลงข่าว “เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาดรอบใหม่” ว่า ขณะนี้มีการอนุญาตให้คนไทยและคนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ผ่านระบบการกักกันตัวโดยใช้ระยะเวลา 14 วัน แต่หากมีวิธีการลดวันกักตัวลง จะสามารถทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้มากขึ้น เป็นการแง้มประเทศทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่เข้ามามากขึ้น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมดุลกับความปลอดภัย จึงมีแนวคิดที่จะลดจำนวนวันกักตัวลง

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคไปจัดทำรายละเอียดเสนอวันที่เหมาะสมในการกักตัว โดยมีรายละเอียดครอบคลุม ทั้งจำนวนวันกักตัวแต่ละระยะเวลาสามารถป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ เช่น 14 วันป้องกันได้ 100 % 12วัน,10วัน หรือ 7 วันป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ รวมถึง วิธีตรวจขณะอยู่ในสถานที่กักกันซึ่งจะต้องมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเก็บตัวอย่างจากการแยงจมูกตรวจหาเชื้อ และการเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกัน

“ระยะแรกอาจจะลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วันก่อน ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ศบค.ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เมื่อดำเนินการไปแล้วราว 1 เดือนก็จะมีการประเมิน หากยังสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดีก็จะพิจารณาลดจำนวนวันลงอีก เปิดรูหายใจได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จะกำหนดจำนวนวันกักตัวแตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงของประเทศต้นทาง หากเป็นประเทศเสี่ยงสูงมากยังจำเป็นต้องกักตัวครบ 14 วันต่อไป ส่วนประเทศที่เสี่ยงต่ำอาจจะลดลง ซึ่งเป้าหมายต่ำที่สุดอยู่ที่ 7 วัน ซึ่งประเทศเสี่ยงสูงดูจากประวัติอัตราการตรวจเจอเชื้อในผู้ที่เดินทางเข้ามาอยู่ในสถานที่กักกันที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าประเทศนั้นยังมีการติดเชื้อในประเทศที่สูง ส่วนประเทศจีนที่ผ่านคนที่เข้ากักตัวก็ตรวจไม่เจอเชื้อ ถือว่าเสี่ยงต่ำ การติดเชื้อในประเทศไม่สูง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า กรมจะดำเนินการจัดทำรายละเอียดในการพิจารณาลดวันกักตัวผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย เนื่องจากประชาชนแต่ละประเทศมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน จะให้กักตัว 14 วันเหมือนกันทั้งหมดคงจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ต้องพิจารณาในมติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย รวมถึงแนวทางการปรับแนวทางในการตรวจหาเชื้อในสถานที่กักกัน อาจจะมีความถี่ของการตรวจเชื้อมากขึ้น เพราะบางทีการที่ตรวจเจอเชื้อในวันที่ 13 อาจเป็นเพราะตรวจในวันที่ 13 แต่หากตรวจในวันที่เร็วขึ้นอาจจะเจอเร็วขึ้น เป็นต้น