ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยชู แอปพลิเคชัน FoodChoice เครื่องมือให้ความรู้ด้านโภชนาการ ช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจเปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว สามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเด็กและทุกกลุ่มวัยให้ถูกหลักโภชนาการเพิ่มมากขึ้น

ตามที่​นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เผยข้อมูลภาวะโภชนาการของคนไทยพบว่า เด็ก 0-5 ปี มีภาวะเตี้ยร้อยละ 12.9 ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.9 ส่วนเด็กวัยเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนมากขึ้น ร้อยละ 13.1 และเตี้ยร้อยละ 9.9 ประกอบกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยส่งผลกระทบอย่างมากต่อโภชนาการของเด็ก เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเด็กไม่ได้เข้าโรงเรียนและไม่ได้รับอาหารกลางวันเหมือนเช่นในช่วงสถานการณ์ปกติ และ บางครอบครัวประสบปัญหาในการซื้ออาหารและใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น ทำให้การบริโภคอาหารในครอบครัว มีการปรุงประกอบเมนูที่ไม่หลากหลาย หรือมีการบริโภคอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น รวมถึงมีการ สั่งอาหารออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมนูประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่น ไก่ทอด เบอร์เกอร์ พิซซา เป็นต้น

“จากปัญหาดังกล่าว กรมอนามัยเล็งเห็นความสำคัญ และสร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการ โดยล่าสุดได้นำแอปพลิเคชั่น FoodChoice มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการให้ความรู้ด้านโภชนาการ เพื่อช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจเปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว สามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเด็กและทุกกลุ่มวัยให้ถูกหลักโภชนาการเพิ่มมากขึ้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว 

(ข่าวเกี่ยวข้อง ; โควิด19 กระทบโภชนาการเด็กไทย หนุนใช้แอปพลิเคชันสร้างความรู้อาหาร)

แอปพลิเคชั่น FoodChoice ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการ เมื่อสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว

โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน นอกจากนี้ ยังได้มีการจำแนก สีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายได้ โดยจำแนกได้ ดังนี้

1) สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด แต่หากบริโภคผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มากกว่าหนึ่งหน่วยบริโภค แต่ไม่เกิน 2 หน่วยบริโภค ของอาหารระหว่างมื้อ (อาหารว่าง) หรือบริโภคร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นเป็นที่มีสารอาหารชนิดเดียวกันที่ให้สีเขียว ก็จะทําให้ได้รับสารอาหารนั้นในปริมาณสูงปานกลาง

2) สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่หากบริโภคผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มากกว่าหนึ่งหน่วยบริโภค หรือบริโภคร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นเป็นที่มีสารอาหารชนิดเดียวกันที่มีสีเหลือง ก็จะทําให้ได้รับสารอาหารนั้นในปริมาณสูง

3) สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด หากบริโภคอาหารระหว่างมื้อที่มีสัญลักษณ์สีแดงในอาหารตัวใดตัวหนึ่ง ต้องพยายามลดการได้รับสารอาหารนั้น ๆ ในอาหารมื้อหลักต่อไป

4) สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบีสอง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีแต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก ซึ่งหากผู้ใช้งานสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์แล้วไม่พบข้อมูล ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพและแชร์รูปภาพของผลิตภัณฑ์ ด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลขอย. 13 หลักเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลในแอปพลิเคชั่นให้ทันสมัย และครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง