ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลงานแพทย์ไทยพบอาการทางระบบทางเดินอาหารสัมพันธ์ป่วยโควิดรุนแรง ตีพิมพ์วารสารทางการแพทย์นานาชาติ พร้อมส่งต่อให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นไกด์ไลน์ตรวจวินิจฉัย แง้มเตรียมเปิดงานวิจัยเฟส 2

หลังจากข่าวดีที่นักวิจัยได้ได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารทางการแพทย์นานาชาติด้านระบบทางเดินอาหารและตับ ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ชื่อ JGH Open โดยได้ตีพิมพ์บทความวิชาการ ชื่อว่า “Gastrointestinal manifestation as clinical predictor of severe COVID-19: A retrospective experience and literature review of COVID-19 in Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)” หรือ “การใช้อาการทางระบบทางเดินอาหารเพื่อทำนายการป่วยรุนแรงของโควิด-19 : การศึกษาย้อนหลังและทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับโรคโควิด – 19 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน”

โดยพบว่าผู้ป่วยโควิด–19 ที่มีอาการรุนแรง มักมีอาการของโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ร่วมด้วย ซึ่งเป็นข้อค้นพบของคณะแพทย์ไทย ซึ่งทีมศึกษาวิจัย นำโดย ศ.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขา โรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ และ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)นั้น

ล่าสุดผู้สื่อข่าว Hfocus   สัมภาษณ์พิเศษหนึ่งในทีมศึกษาวิจัย “ ศ.นพ.รัฐกร” ให้ข้อมูลถึงความสัมพันธ์ของอาการท้องเสียกับโรคโควิด-19 ว่า อาการหลักๆของโรคโควิดยังคงเป็นเรื่องของระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีไข้ ซึ่งจะพบประมาณ 70%

ส่วนอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร จะพบประมาณ 30% โดยในแต่ละประเทศทั่วโลกจะมีรายงานที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยล่าสุดจากประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลคนไทยป่วยโควิด-19​ที่โรงพยาบาลสนาม ของ มธ. พบว่าอาการท้องเสียของผู้ป่วยโรคโควิด-19 พบได้ 3 ระยะ ได้แก่ มีอาการก่อนเป็นโควิด ระหว่างเป็นโควิด และมีอาการหลังเป็นโควิด

ทั้งนี้ ระหว่างป่วยโควิดหากพบคนไข้มีอาการท้องเสียร่วมด้วย จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดอาการของโควิดที่รุนแรงตามมา จากข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้แพทย์สามารถแบ่งกลุ่มผู้ป่วยและแยกการดูแลผู้ป่วยได้เหมาะสมมากขึ้น เช่น หากผู้ป่วยรายใดมีอาการท้องเสีย ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยโควิดที่มีอาการท้องเสียร่วมด้วยมีโอาสที่จะกลายเป็นผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรงได้มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการถึง 30 เท่า

ศ.นพ.รัฐกร เล่าอีกว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในช่วงแรก ส่งผลให้โรงพยาบาลอาจไม่เพียงพอ ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีนโยบายให้สร้างโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตนได้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ โดยโรงพยาบาลสนาม มธ.ได้ทำการตรวจผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคตั้งแต่วันที่1มกราคม-30 เมษายน ที่ผ่านมา ประมาณ 352 คน ในจำนวนนี้พบว่ามี 41 รายเป็นโควิดต้องนอนโรงพยาบาลสนาม โดยส่วนใหญ่ประมาณกว่า 30 ราย หรือ 70-80% เป็นผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จะมีประมาณ 10 ราย หรือ 10-20% ที่มีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้ทำให้พบว่าตัวบ่งชี้ที่สำคัญของผู้ป่วยโควิดคืออาการท้องเสียอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิดที่รุนแรงต่อไป และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูงตามมาด้วย

“ทุกคนสามารถมีอาการท้องเสียเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนั้นเมื่อมีอาการท้องเสียอย่าตระหนกว่าจะต้องเป็นโรคโควิด-19 โดยอาการท้องเสียของคนปกติกับผู้ที่ป่วยโควิด-19 นั้นให้ดูจาก 3 กลุ่มเสี่ยง คือ 1.มีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศ 2.มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย และ3.อยู่ในสเตทควอรันทีน มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ร่วมกับอาการท้องเสีย กลุ่มเหล่านี้จึงจะถือว่าเข้าข่าย” ศ.นพ.รัฐกร กล่าว

ทั้งนี้ จากงานวิจัยจะช่วยทำให้แพทย์สามารถแบ่งกลุ่มผู้ป่วยที่อาจมีอาการรุนแรงในอนาคต รวมถึงช่วยทำให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังถือเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ป่วยรู้ว่าอาจจะมีอาการรุนแรงได้เพราะมีอาการท้องเสียร่วมด้วย และต้องรีบแจ้งอาการกับแพทย์ทันที เพราะการพัฒนาให้เกิดอาการรุนแรงจะใช้เวลาไม่นาน หากปล่อยจนอาการหนักอาจทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงขอให้ตระหนักแต่ไม่ตระหนก และย้ำว่าหากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแล้วมีอาการท้องเสียก็ไม่ต้องกังวล

สำหรับผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งนี้เป็นวารสารที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี แพทย์ที่รักษาสามารถไปดาวน์โหลดข้อมูลได้ นอกจากนี้มธ.ยังมีความพร้อมที่จะส่งข้อมูลให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ได้ถูกต้อง เพื่อช่วยลดภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย นอกจากนี้ ทางวารสารต่างประเทศยังได้ขอนำผลงานดังกล่าวส่งต่อให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดระดับนานาชาติในทุกประเทศทั่วโลกต่อไป

อย่างไรก็ตามจากการที่ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะมีเรื่องสเตทควอรันทีนเข้ามา และเราก็จะไม่ทราบว่าใครมีโควิดบ้างเพราะโรคโควิด ส่วนใหญ่ 80-90% จะมีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป​ที่อาจไม่ต้องดูแลใกล้ชิดมาก ดังนั้นในการเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไทยอาจใช้ข้อมูลนี้ไปอยู่ในแบบสอบถามอาการของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาว่ามีอาการท้องเสียร่วมด้วยหรือไม่ หากมีอาการก็อาจจะให้ความสนใจเฉพาะ เพื่อนำกลุ่มเหล่านี้ที่อาจมีการป่วยแยกออกมาเพื่อให้การดูแลที่ใกล้ชิดต่อไป

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์โควิดหากเกิดการระบาดรอบ 2 ดังนั้นในส่วนของผู้บริหารของมธ.ผมก็เชื่อว่าพร้อมที่จะให้การบริการและเปิดโรงพยาบาลสนามอีกหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามการตื่นตระหนกไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่หากเรามีอาการหรือสงสัยก็ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะหากตรวจพบก็จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยลดความกังวลในตัวผู้ป่วยเองและทำให้แพทย์สามารถแบ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อย มีอาการมากได้ เพื่อทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย ทั้งนี้ข้อมูลจากงานวิจัยในเฟส 2เบื้องต้น พบว่าการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่มาก หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจจะไม่ได้เกิดประโยชน์หรือทำให้ผลการรักษาดีขึ้นเมื่อเทียบกับการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งงานวิจัยนี้อาจช่วยให้ไทยสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดร่วมกับลดผลข้างเคียงโดยไม่จำเป็นจากการใช้ยาลงได้และที่สำคัญช่วยประหยัดงบประมาณให้ประเทศอีกด้วย ทั้งนี้คาดว่าผลวิจัยที่ชัดเจนจะออกมาเร็วๆนี้”ศ.นพ.รัฐกร กล่าว

วารสารนานาชาติ