ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดประสานเรื่องการเยียวยาตามระเบียบ กฎหมาย กองทุนรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละราย ล่าสุดไม่ต่อสัญญาจ้างแพทย์ที่ได้รับการร้องเรียนกรณีทำคลอดเด็กเสียชีวิต

ตามที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมด้วยครอบครัวผู้เสียหายจากการทำคลอดที่โรงพยาบาล(รพ.) สมุทรสาคร จำนวน 3 ราย เข้าร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุขนั้น

ความคืบหน้าทางฝั่งกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าว ว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้เป็นตัวแทนรับข้อร้องเรียน และขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของทั้ง 3 ครอบครัว เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีฝ่ายใดต้องการให้เกิดขึ้น ได้มอบหมายให้นพ.กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 และผู้แทนกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยมีผู้แทนจากภายนอกและภายในโรงพยาบาล ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ร้องเรียน ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ขณะเดียวกัน ให้เร่งรัดเรื่องการขอรับการเยียวยาตามระเบียบหรือกฎหมายกองทุนรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย

“ขณะนี้ โรงพยาบาลสมุทรสาครได้พิจารณาไม่ต่อสัญญาจ้างแพทย์ที่ได้รับการร้องเรียนกรณีดังกล่าว และได้ดำเนินการส่งเอกสารยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาในรายแรกที่ใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม ผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แจ้งว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์การจ่ายเยียวยา เนื่องจากเสียชีวิตจากพยาธิสภาพโรค แต่ทางโรงพยาบาลได้ทำเรื่องขออุทธรณ์อีกครั้ง อยู่ในระหว่างดำเนินการ สำหรับรายที่ 2 และรายที่ 3 เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลได้รวบรวมข้อมูล หลักฐานประกอบขอรับการเยียวยาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และจะประสานงานให้มีการพิจารณาโดยเร็ว” นพ.สุระ กล่าว

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า โรงพยาบาลสมุทรสาคร แต่ละปีมีการคลอดจำนวนมาก ประมาณ 7,000 – 8,000 คน จำเป็นต้องจ้างสูตินรีแพทย์จากภายนอกมาแบ่งเบาภาระงาน โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการแม่และเด็ก เพื่อติดตามกำกับการให้บริการที่มีคุณภาพ ลดความเสียหาย ลดโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ให้น้อยที่สุด จากกรณีที่เกิดขึ้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิเคราะห์ปัญหาอย่างละเอียดในแต่ละราย เพื่อค้นหาสาเหตุที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ รวมถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วย ตลอดจนปรับปรุงการสื่อสารระหว่างทีมผู้ให้บริการกับผู้ป่วยและญาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งในกระบวนการสนับสนุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่ายังมีประเด็นที่จะพัฒนา เช่น ขั้นตอนการรับมอบศพผู้เสียชีวิต และการส่งมอบศพผู้เสียชีวิตเพื่อนำไปดำเนินการต่อ แม้จะดำเนินการไปด้วยวัตถุประสงค์ที่ดีเพื่อลดภาระของญาติผู้เสียชีวิตแต่ต้องมีการบันทึกหลักฐานชัดเจน เพื่อการตรวจสอบในภายหลังต่อไป

ข่าวเกี่ยวข้อง : “อัจฉริยะ” ร้อง สธ. หลังรพ.ทำคลอดเด็กเสียชีวิต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง