ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของผู้ใช้แรงงาน ทำอย่างไรให้แรงงานไทยเลิกสูบ เหตุมีข้อมูลพบยิ่งสูบ ยิ่งจน

ทราบกันดีอยู่แล้วถึงอันตรายของบุหรี่ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร หนำซ้ำยังสร้างภาระค่ารักษาพยาบาลอีก แต่เพราะเหตุใด แรงงานไทยถึงเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้เสียที...

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดงาน “ปฏิรูปวิถีแรงงาน เลิกสูบ เลิกจน” โดยงานนี้ สวนดุสิตโพลยังได้เผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของผู้ใช้แรงงานอีกด้วย

ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ จำนวน 1,098 คน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่สูบบุหรี่น้อยประมาณ 1-5 มวนต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 17.76 มีการสูบบุหรี่น้อยลงหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลา เนื่องจากรายได้ลดลง รองลงมาคือ ต้องการดูแลสุขภาพ และกังวลว่าการสูบบุหรี่จะทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังพบว่า ร้อยละ 64.10 ของกลุ่มดังกล่าววางแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่ ขณะที่กลุ่มที่สูบบุหรี่มากในปริมาณ 11-15 มวนต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.01 กลับยิ่งสูบมากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายลง เพราะความเครียดทั้งเรื่องการทำงานและสถานการณ์โควิด ร้อยละ 29.09 มีการวางแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่ โดยจะใช้วิธีการลดปริมาณการสูบ หักดิบ และการใช้ยา ตามลำดับ

“เรายังพบว่า 2 ปัจจัยที่ทำให้คนอยากเลิกบุหรี่ ได้แก่ 1.ความรัก รักคนในครอบครัว หรือรักตัวเอง 2.ความกลัว โดยเฉพาะกลัวตาย จึงเชื่อว่า หากกลุ่มแรงงานรู้ถึงโทษของบุหรี่อย่างแท้จริง จะลดการสูบบุหรี่ลงได้ หากเลิกสูบบุหรี่นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย” ดร.ณัฐพล กล่าว

จากผลสำรวจเห็นได้ว่า เพราะปัญหาความยากจน มีส่วนกับการสูบบุหรี่ใช่หรือไม่...

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรรมการกำกับทิศทางของ ศจย.  ให้ข้อมูลว่า ผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 84 อยู่ในประเทศยากจน หรือประเทศกำลังพัฒนา ซ้ำเติมความจนและวิ่งไล่ตามประเทศที่ร่ำรวย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ ที่ต้องทำงานตามสายพานของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ สาเหตุสำคัญของการติดบุหรี่ มีทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบการทำงาน ที่มีชั่วโมงยาวนานระหว่าง 8-12 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เครียดจนต้องหาทางผ่อนคลายด้วยการสูบบุหรี่ และบางรายอาจเลียนแบบเพื่อนร่วมงาน โดยไม่รู้พิษร้ายของบุหรี่ การแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องทำทั้งการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน การให้ความรู้เรื่องผลร้ายของการสูบบุหรี่ ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวมอย่างจริงจัง ซึ่ง สสส. โดย ศจย. และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากควันบุหรี่

"คนจนยิ่งเครียดยิ่งสูบบุหรี่ เพราะอุตสาหกรรมในโรงงานทุกวันนี้ คนอยากทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้โอที ลูกจ้างไทยจึงทำงานยาวนานกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะโรงงานที่คิดค่าจ้างเป็นรายชิ้น ไทยมีค่าจ้างต่ำ ถ้าจะอยู่ให้ได้ก็ต้องทำโอที ทำงานหนักก็ยิ่งเพิ่มความเครียด ไม่มีเวลาเจอหน้าลูก ต้องทำงานจำเจกับเครื่องจักรซ้ำ ๆ จนสูญเสียความเป็นมนุษย์ หากแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้จะช่วยปลดล็อคศักยภาพแรงงานไทยได้อย่างเต็มสูบ" รศ.ดร.แล กล่าว

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์

แม้ว่าจะรณรงค์มายาวนานแค่ไหน แต่ปัญหาการสูบบุหรี่ก็ยังหยั่งรากลึกในสังคมไทย รศ.ดร.แล อธิบายเพิ่มเติมว่า คนเรารู้หมดแต่อดไม่ได้ เรื่องของพฤติกรรมของคน มนุษย์ไม่ได้ตัดสินด้วยเหตุผล เหมือนอย่างซองบุหรี่ที่บอกว่าอันตราย อาจทำให้ตกใจระยะหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายเราก็จะคุ้นกับมัน การพูดถึงเหตุผลทางการแพทย์ หรือเหตุผลทางการเงินนั้นไม่เพียงพอ จึงต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อและค่านิยม ปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่ พร้อมกับการให้ความรู้เรื่องอันตรายของบุหรี่ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยสภาพการทำงานที่เอื้ออำนวยต่อความเป็นมนุษย์ ลดความเครียดจากสภาพแวดล้อมการทำงาน เพื่อช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

“ บุหรี่ยิ่งสูบยิ่งจน ยิ่งเครียด เป็นวงจรอุบาทว์ เพราะบุหรี่หรือยาสูบมีสารนิโคติน เลิกเองก็ทำได้ยาก ซ้ำยังเพิ่มความจนและภาระทางการคลังให้แก่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล การสูญเสียแรงงานการผลิตอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยและตายก่อนวัยอันควร ร่วมกันเดินออกมาให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ เลิกบุหรี่ เลิกจน เพื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน” รศ.ดร.แล กล่าว

ขณะที่ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เสริมทิ้งท้ายว่า บุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหาทางเศรษฐกิจในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ศจย.จึงร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่เชิญชวนชาวแรงงานปฏิรูปวิถีชีวิต “เลิกสูบ เลิกจน” โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกของสมาพันธ์จังหวัดในการส่งต่อคนอยากเลิกบุหรี่ไปยังสายเลิกบุหรี่ 1600

ลด ละ เลิกบุหรี่...ง่ายๆ ติดต่อได้ 1600

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง