ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลถอดบทเรียนร่วมระหว่าง สธ.และWHO กรณีปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขต่อสถานการณ์โควิด19 ขณะที่องค์การอนามัยโลกเเนะให้ไทยพัฒนาการบูรณาการฐานข้อมูล ขยายการเฝ้าระวังรับระบาดในอนาคต

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการแถลงข่าวถอดบทเรียนร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย (Ministry of Public Health and WHO Joint Intra-Action Review of Public Health Response to COVID-19 in Thailand)

โดย นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การถอดบทเรียนนี้เนื่องจากประเทศไทยรับมือ กับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วง 9 เดือนแรกของการระบาดของโรคโควิด 19 โดยสามารถจำกัดการแพร่ระบาดในระดับชุมชนได้ และลดผลกระทบต่อบริการสุขภาพที่จำเป็น ซึ่งการถอดบทเรียนใช้เครื่องมือมาตรฐานพัฒนาโดยองค์การอนามัยโลกให้ทุกประเทศนำไปใช้ ดำเนินการถอดบทเรียนเมื่อวันที่ 20 - 24 กรกฎาคม 2563 โดยผู้ประเมินภายนอกจากองค์การอนามัยโลก หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งมีผู้ให้สัมภาษณ์ ได้แก่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการและบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้ พบว่าปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์ โควิด19ในประเทศไทยมี 6 ข้อได้แก่ 1.ภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งได้รับข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด 2.ระบบบริหารที่ประยุกต์ได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง 3.ระบบการแพทย์และการสาธารณสุขที่แข็งแกร่งมีทรัพยากรพร้อมและทุกคนเข้าถึงได้ 4.ประสบการณ์รับมือการระบาดของโรคติดเชื้ออาทิ โรคซาร์ส ไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิเอช 1 เอ็น 1 5.การสื่อสารสม่ำเสมอและโปร่งใสซึ่งนำไปสู่การให้ความร่วมมือของภาคประชาชนกับมาตรการป้องกันต่างๆและ 6. วิธีการแบบบูรณาการทุกภาคส่วนซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมของภาควิชาการและเอกชน

อย่างไรก็ตาม มี 6 ข้อเสนอแนะ หลักประกอบด้วย 1.ข้อมูลที่นำไปสู่การปฏิบัติ ควรมีระบบฐานข้อมูลดิจิตอลใหม่ เพื่อบูรณาการข้อมูลระบาดวิทยา ข้อมูลห้องปฏิบัติการ ข้อมูลทางการแพทย์และการขนส่ง 2.ปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยจั ดตั้งหน่วยงานระดับประเทศด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ 3.ปรับปรุงการค้นหาผู้ป่วย โดยขยายการเฝ้าระวังโรคโควิด19 เพื่อหนุนเสริมการค้นหาผู้ป่วยและเพื่อติดตามผลกระทบจากโรคระบาด 4.เสริมกำลังคนโดยทบทวนทรัพยากรบุคคลที่ทำงานด้านโรคโควิด 19 เพื่อเทียบเคียงกับความต้องการจริงและรับมือกับการขาดแคลน 5.การกักกันที่ดีระดับโลก จัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศที่มีอำนาจในการกักกันโรค เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและอำนวยการประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆให้เป็นไปได้สะดวกขึ้นและ 6. เสริมการประสานงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของการตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด 19

“ข้อเสนอแนะจากถอดบทเรียน เน้นเรื่องการเสริมสร้างการประสานความร่วมมือ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและฐานข้อมูล และการเสริมสร้างและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ การนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปปรับใช้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้การรับมมือกับสถานการณ์การระบาดในระลอกต่อไปมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”นพ.แดเนียลกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือประเทศไทยไม่เคยปิดข้อมูลใดๆตั้งแต่ที่พบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนรายแรกจากนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะเป็นฝ่ายรุกกลับโควิด19 คือรู้ว่าโควิด19มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร แพร่เชื้อและคุกคามสุขภาพคนได้อย่างไร ก็หาวิธีการป้องกันตรงจุดนั้น ซึ่งช่วงนี้การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่าง เป็นวิธีที่ป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นคนไทยต้องการ์ดไม่ตก ซึ่งไม่เพียงแต่ป้องกันโควิด19เท่านั้น ยังช่วยให้จำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่นและโรคทางเดินอาหารลดลงด้วย ช่วยลดค่ารักษาพยาบาลโรคเหล่านี้ได้มาก

“สิ่งสำคัญในการควบคุมสถานการณ์ สธ.ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะทำทุกอย่างให้ไม่มีคนติดเชื้อในประเทศไทย แต่เป้าคือเมื่อมีผู้ติดเชื้อต้องค้นเจอได้เร็วและเข้าไปควบคุมโรคไม่ให้สถานการณ์เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง เช่นการดำเนินการที่อ.แม่สอด จ.ตาก จ.ระยองและถนรนข้าวสาร กทม. เป็นต้น ซึ่งในอีก 1-2 สัปดาห์หากวิธีการเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันผู้ที่เข้ากักตัวในสถานที่กักกันต่างๆที่ขณะนี้กรมควบคุมโรคดำเนินการทดสอบควบคู่กับวิธีการมาตรฐาน พบว่าได้ผลแม่นยำ 100 % ก็จะนำเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค.)ในการลดวันกักตัวจาก 14 วัน เพราะมีคนบอกว่าการกักตัว14 วันและ10วันผลแตกต่างกันมาก”นายอนุทินกล่าว